การบังคับใช้กฎหมายต่อปัญหาการสั่งซื้อสินค้าเก็บเงินปลายทาง

การบังคับใช้กฎหมายต่อปัญหาการสั่งซื้อสินค้าเก็บเงินปลายทาง

จากความเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันหรือในยุค 4.0 ส่งผลให้การซื้อขายสินค้ามีการขยายตัวไปในรูปแบบต่างๆ กันออกไป โดยที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การซื้อขายสินค้าหน้าร้าน หรือในห้างสรรพสินค้าอีกต่อไป

การซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ในปัจจุบัน กลายมาเป็นอัตราส่วนหลักในตลาด และเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบการค้าและเศรษฐกิจของประเทศไทย 

ด้วยเหตุผลที่ว่า การซื้อขายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ อำนวยความสะดวกสบายในการซื้อขายจับจ่ายให้กับผู้ซื้อและผู้บริโภคเป็นอันมาก อันเนื่องมาจากความง่ายในการเข้าถึงสินค้า ผู้บริโภคสามารถที่จะเห็นชนิด ประเภท และคุณลักษณะของสินค้าผ่านหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนที่ไหน เวลาใดก็ได้

ประการต่อมารูปแบบของการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ รูปแบบการทำคำสั่งซื้อ รูปแบบการชำระเงินหรือการชำระราคา รูปแบบของการจัดส่งสินค้าทำได้โดยง่ายและสะดวกสบาย

เมื่อพิจารณาในแง่ของกฎหมาย อาจนำหลักของบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้วางหลักไว้ในประเด็นของการทำสัญญาซื้อขาย ประเด็นความถูกต้องตรงกันของคำเสนอและคำสนอง ประเด็นกฎหมายที่เข้ามากำกับเรื่องการชำระราคาและประเด็นในเรื่องการขนส่งและจัดส่งสินค้า

ในบทความฉบับนี้จะกล่าวถึง ประเด็นทางกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ในรูปแบบการเก็บเงินปลายทางและปัญหาที่เกิดขึ้น

ส่วนหนึ่งของกระบวนการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ จะมีส่วนของการแสดงเจตนาและการชำระราคาเข้ามาเกี่ยวข้องอันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัญญาซื้อขายทางออนไลน์ดังกล่าวครบถ้วนกระบวนการ แม้ว่าข้อตกลงการทำสัญญาจะสมบูรณ์แล้ว

เมื่อคำเสนอ คำสนองถูกต้องตรงกันตามบทบัญญัติมาตรา 354, 355 และมาตรา 356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะเห็นได้ว่ารูปแบบปกติของการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อผู้ซื้อหรือผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าใส่รถเข็นหรือปักตะกร้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ยังหมายความรวมถึง การเลือกซื้อและสั่งสินค้าผ่านการแชทหรือพูดคุย และตกลงด้วยวาจากับผู้ขายหรือบุคคลผู้เป็นตัวแทนของผู้ขายแล้ว

การบังคับใช้กฎหมายต่อปัญหาการสั่งซื้อสินค้าเก็บเงินปลายทาง

กระบวนการต่อมาซึ่งจะเกิดขึ้นคือ ผู้ขายหรือฝ่ายทำคำเสนอจะได้ทำการยืนยันคำสั่งซื้อ (Confirm Order) ให้แก่ผู้ซื้อหรือฝ่ายทำคำสนองจะต้องทำคำสนองได้แสดงเจตนาให้ถูกต้องตรงกันและผูกพันตามข้อสัญญาและเจตนาดังกล่าวแล้ว

ตามปกติเมื่อผู้ซื้อหรือผู้ทำคำสนองได้ตรวจสอบและยืนยันรายการสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวแล้ว ในทางกฎหมายมีผลเป็นการผูกพันการแสดงเจตนาของทั้งสองฝ่าย มีผลผูกพันกันตามกฎหมายซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่อาจบอกปัดได้อีกต่อไป ยกเว้นเป็นการทำคำสนองแบบมีเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติตาม

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนต่อมาซึ่งก็คือการชำระราคา คือเงื่อนไขการชำระราคาแบบเก็บเงินปลายทาง ซึ่งผู้รับสินค้าปฏิเสธที่จะรับสินค้า ติดต่อไม่ได้หรือหาตัวไม่พบส่งผลให้ผู้ขาย ผู้ทำคำเสนอหรือตัวแทนในนามผู้จัดส่งสินค้า ไม่สามารถทำกระบวนการชำระราคาให้สำเร็จลุล่วงไปได้ 

แม้สัญญาเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แต่ไม่สามารถเรียกให้มีการชำระราคาสินค้าได้ เนื่องจากเป็นการแสดงเจตนาที่ได้ระบุตัวผู้รับคำสนองแล้ว มีการเสนอตนเข้าผูกพันตามสัญญาหรือ Offer ตามเนื้อความและรายละเอียดของออเดอร์หรือรายการสั่งซื้อสินค้าชิ้นนี้แล้ว

ถือเป็นการแสดงเจตนาที่มีเนื้อหาแน่นอน ครบถ้วน ผูกพันผู้รับคำสนองและตัวผู้ทำคำเสนอไปโดยปริยายแล้วตามหลักกฎหมายมาตรา 168 และมาตรา 169 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกระทบต่อการทำธุรกิจและการดำเนินกิจการของผู้ขายหรือผู้ทำคำสนองเป็นอย่างมาก

เนื่องจากผู้ขายหรือผู้ทำคำเสนอยังคงยอมเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ซื้อหรือผู้ทำคำสนองอยู่ เพราะลูกค้าหรือผู้สั่งซื้อบางกลุ่มต้องการให้สินค้าถึงมือก่อนจึงจะชำระราคาด้วยมีความกังวลในด้านการขนส่งและการจัดส่งสินค้า หรืออาจเป็นกรณีการทำสัญญาซื้อขายหรือคำสั่งซื้อแบบล่วงหน้า (Pre- Order)

การบังคับใช้กฎหมายต่อปัญหาการสั่งซื้อสินค้าเก็บเงินปลายทาง

    ผลของกระบวนการดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ซื้อหรือผู้ทำคำสนองเกิดหน้าที่ตามสัญญานี้กล่าวคือ “รับและชำระเงิน” โดยเป็นผลจากมาตรา 168 ประกอบมาตรา 458 การปฏิเสธการรับของ ไม่รับโทรศัพท์ ติดต่อไม่ได้ ไม่ชำระราคาเมื่อมีการจัดส่งแม้ยังไม่ได้ตรวจสอบสินค้า

ซึ่งแน่นอนว่ามีผลให้ผู้ขาย ผู้ทำคำเสนอรวมถึงบริษัทขนส่งได้รับความเสียหาย ซึ่งกระบวนการดังกล่างนี้มีผลทางกฎหมายและรูปแบบที่แตกต่างจากการปฏิเสธไม่รับสินค้า

หากสินค้ามาถึงล่าช้ากว่ากำหนด สินค้ามีคุณลักษณะที่ไม่ตรงตามสัญญาซื้อขาย หรือคำเสนอ คำสนองหรือเป็นรูปแบบของมิจฉาชีพ กรณีไม่ได้มีคำสั่งซื้อหรือคำเสนอคำสนองแก่กันนั้น มีผลทางกฎหมายและประเด็นทางกฎหมายที่แตกต่างออกไป

    ในต่างประเทศระบบการซื้อขายสินค้าออนไลน์นั้นรัดกุมมาก ซึ่งมุ่งคุ้มครองไม่เฉพาะแต่ผู้ซื้อ ผู้รับบริการหรือผู้ทำคำสนอง หากแต่ Consumer Protection Act อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกายังคุ้มครองผู้ขาย ผู้ให้บริการและผู้ทำคำเสนออีกด้วย

ตัวอย่างเช่นเมื่อมีการคอนเฟิร์มออเดอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น จะต้องมีการตรวจสอบและยอมรับการทำนิติกรรมดังกล่าวไปโดยปริยาย เท่ากับมีผลเป็นการแสดงเจตนาเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายในครั้งนี้และผูกพันให้ต้องดำเนินการชำระราคาต่อไป

    โดยการชำระราคาในระบบการซื้อขายออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม จะเป็นการชำระราคาด้วยบัตรเครดิต และจะไม่มีการเรียกชำระราคาที่ปลายทางขณะมีการจัดส่งสินค้าอีก แม้ว่าจะติดต่อผู้รับสินค้าไม่ได้ ผู้ซื้อไม่อยู่บ้านหรือผู้ทำคำสนองจะปฏิเสธไม่รับสินค้า

แต่ผู้ขายหรือผู้ทำคำเสนอได้รับการชำระราคาเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ต้องมีการติดตามหรือเรียกร้องให้มีการชำระเงิน ชดเชยหรือชดใช้ต่อความเสียหายและค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นต่อผู้ขาย หรือผู้ทำคำเสนออย่างกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้

เป็นที่น่าสังเกตถึงการพัฒนาข้อกำหนดกฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น หรือจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างและระบบในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ควบคู่ไปกับมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งผู้ขายและคุ้มครองผู้ซื้อได้.