เปิด 2 ช่องทาง ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ 'น้ำท่วม' สะดวก รวดเร็ว

เปิด 2 ช่องทาง ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ 'น้ำท่วม' สะดวก รวดเร็ว

ปภ. เน้นย้ำแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ประชาชนสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือน้ำท่วมผ่าน 2 ช่องทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

วันนี้ (25 ก.ย. 67) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เน้นย้ำแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 โดยประชาชนสามารถยื่นคำร้องผ่าน 2 ช่องทาง ทั้งการยื่นคำร้องด้วยตนเองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบอุทกภัย และยื่นคำร้องด้วยระบบ Online ผ่านเว็บไซต์

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประชุมชี้แจงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติสามารถดำเนินการบริการประชาชนให้ได้รับเงินช่วยเหลือกรณีประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 โดยเร็วที่สุด และเพื่อให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ

ประชาชนสามารถยื่นคำร้องได้ 2 ช่องทาง คือ 

  • ยื่นคำร้องด้วยตนเอง ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยประชาชนสามารถติดต่อดำเนินการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
  • ยื่นคำร้องออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ http://flood67.disaster.go.th ซึ่งจะเปิดระบบให้ยื่นคำร้องตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

โดยขอให้ประชาชนผู้ประสบภัยเตรียมเอกสารให้พร้อม ประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียน) สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีเป็นบ้านเช่า) และหากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จะต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น รวมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3  

เปิด 2 ช่องทาง ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ \'น้ำท่วม\' สะดวก รวดเร็ว

“ทั้งนี้ กรม ปภ. จะเร่งตรวจสอบและดำเนินการเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ทั้ง 57 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2567 และมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่ง กรม ปภ. จะดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด” อธิบดี ปภ. กล่าว