จับตาฝนท้ายฤดู คาดปลายเดือน ก.ย. มีพายุอีกระลอก เร่งระบายน้ำเหนือสู่อ่าวไทย
สทนช. กำชับทุกหน่วยจับตาสถานการณ์ส่งท้ายฤดูฝนอย่างใกล้ชิด คาดพายุจะเติมฝนอีกระลอกช่วงปลายเดือน ก.ย. เร่งบริหารมวลน้ำเหนือไหลลงสู่อ่าวไทย
วันนี้ (25 ก.ย. 67) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี การประปานครหลวง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งระเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ณ อาคารสำนักงาน สทนช. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ได้เปิดเผยผลการประชุมว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจากอิทธิพลของ “พายุซูริค” ประกอบกับเกิดร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและกระจายทั่วในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิด สถานการณ์น้ำท่วน ทั่วประเทศ จำนวน 22 จังหวัด โดยหลายพื้นที่รัฐบาลได้เข้าช่วยเหลือฟื้นฟูกลับสู่สถานการณ์ปกติแล้ว
พื้นที่ประสบอุทกภัยอยู่อีก 14 จังหวัด 22,275 ครัวเรือน โดยเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่
- จ.เชียงราย (อ.แม่สาย เมืองเชียงราย และเวียงป่าเป้า)
- เชียงใหม่ (อ.แม่ริม และเมืองฯ)
- น่าน (อ.นาน้อย นาหมื่น และเวียงสา)
- ลำปาง (อ.งาว เมืองฯ เกาะคา ห้างฉัตร แม่พริก สบปราบ เถิน แม่เมาะ วังเหนือ แม่ทะ และแจ้ห่ม)
- ลำพูน (อ.เมือง ป่าซาง บ้านธิ ทุ่งหัวช้าง และแม่ทา)
- แพร่ (อ.ลอง และวังชิ้น)
- สุโขทัย (อ.ศรีสำโรง)
- พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และเมืองพิษณุโลก)
- เพชรบูรณ์ (อ.ชนแดน)
ซึ่ง สทนช. ได้มีการจัดทำข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่และการคาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆ เป็นรายวัน รายงานต่อศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และ ดินโคลนถล่ม (ศปช.) ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เพื่อใช้บริหารจัดการสถานการณ์ในภาพรวมต่อไป
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ในการประชุมวันนี้ได้มีการคาดการณ์และเฝ้าระวังฝนที่จะตกลงมาเพิ่มอีก เนื่องจากพบการก่อตัวของพายุในบริเวณหมู่เกาะฟิลิปปินส์คาดว่าจะเคลื่อนตัวไปยังเกาะไต้หวัน ถึงแม้ว่าพายุจะไม่เข้าประเทศไทยโดยตรง แต่อาจส่งผลให้ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 1 ต.ค. 67 เกิดฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการประชุมศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคเหนือ (ลุ่มน้ำยมน่าน) พื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ภาคตะวันออก หน่วยงานทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ได้วางแผนเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ แล้ว ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าให้มีความแม่นยำมากที่สุด การประเมินปริมาณน้ำในพื้นที่หน่วงน้ำ เช่น ทุ่งบางระกำ ทุ่งโพธิ์พระยา เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนที่ตกมาเพิ่ม เร่งซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ เครื่องจักรเครื่องมือ และคันกั้นน้ำที่พังทลายในช่วงที่ผ่านมา เฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดผลกระทบประชาชนน้อยที่สุด เร่งระบายน้ำในแม่น้ำต่างๆ รวมถึงเตรียมความพร้อมในพื้นที่ริมแม่น้ำ ทบทวนเกณฑ์การแจ้งเตือนสถานี Early-Warning บริเวณที่มีความลาดชันสูงให้มีความรัดกุมและทันต่อสถานการณ์ ทำความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์เส้นทางสัญจรที่ถูกน้ำท่วม ให้มีระบบแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เปราะบางตามริมแม่น้ำโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบและยังไม่ได้ซ่อมแซมคันกั้นน้ำ
สำหรับสถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์นี้ (17 – 25 ก.ย.67) ปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศเริ่มสูงกว่าค่าปกติ 2% ฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณฝนสะสมสูงสุดที่ภาคเหนือ จ.แพร่ (อ.วังชิ้น) (342 มม.) รองลงมาได้แก่ กรุงเทพมหานคร (267 มม.) ภูเก็ต (259 มม.) เลย (243 มม.) และตราด (237 มม.) แหล่งน้ำทั่วประเทศขณะนี้มีปริมาณน้ำ 70% มากกว่าปีที่แล้ว 7% ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพิ่ม 3137 ล้าน ลบ.ม โดยมีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำมากในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ ภาคเหนือ (อ่างฯแม่งัดสมบูรณ์ชล แม่จาง และกิ่วลม) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อ่างฯห้วยหลวง) ภาคตะวันออก (อ่างฯนฤบดินทรจินดา) และจากการคาดการณ์ฝนตกสะสมล่วงหน้า 3 วัน พบพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยบริเวณ ภาคเหนือ ได้แก่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา และอ.นครไทย จ.พิษณุโลก สำหรับภาคตะวันออก ได้แก่ อ.บ่อไร่ จ.ตราด อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ส่วนภาคใต้ ได้แก่ อ.ธารโต และเบตง จ.ยะลา
“แม้จะมีการคาดการณ์ว่าปลายเดือน ก.ย.ปริมาณฝนจะเริ่มลดลง แต่ทุกหน่วยงานก็ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนสูงมาก หลายพื้นที่ที่เพิ่งผ่านอุทกภัยช่วงที่ผ่านมาอยู่ระหว่างการฟื้นตัว และหลายพื้นที่ยังมีความชื้นในดินสูง หากมีฝนตกเพิ่มแม้มีปริมาณไม่มากแต่ก็จะส่งผลกระทบในพื้นที่ซ้ำได้ ในช่วงเวลานี้
ทุกหน่วยงานจึงต้องร่วมมือกันเร่งบริหารจัดการมวลน้ำจากภาคเหนือไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง โดยบริหารจัดการเป็นลุ่มน้ำเพื่อเก็บน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้เพียงพอในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ และต้องระบายน้ำส่วนเกินลงสู่พื้นที่ตอนล่างโดยไม่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ในวันนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้เสนอปรับลดการระบายเขื่อนสิริกิติ์จากเดิม 20 ล้าน ลบม./วัน เป็น 15 ล้าน ลบม./วัน เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อท้ายน้ำ แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่อาจเกินความจุเก็บกักได้ ในขณะที่เขื่อนเจ้าพระยามีแผนปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อรองรับมวลน้ำจากภาคเหนือ โดยปรับการระบายน้ำระหว่าง 1,500 – 2,000 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ ในการปรับแผนการระบายน้ำทุกครั้งจะต้องมีการแจ้งเตือนประชาชนได้ทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวรองรับได้ทันท่วงที” รองเลขาธิการ สทนช.กล่าวในตอนท้าย