เฝ้าระวังพายุอีก 1 ลูกปลายฤดูฝนนี้ เร่งเพิ่มพื้นที่รองรับทุกลุ่มน้ำ

เฝ้าระวังพายุอีก 1 ลูกปลายฤดูฝนนี้ เร่งเพิ่มพื้นที่รองรับทุกลุ่มน้ำ

สทนช. ชี้ 2 สัปดาห์แรกของเดือน ต.ค. 67 ฝนภาคเหนือและอีสานจะลดลง ขยับลงมาตกในพื้นที่ภาคกลางและใต้ เร่งวางแผนทุกลุ่มน้ำเพิ่มพื้นที่รองรับฝนปลายฤดู พร้อมยังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงในการเกิดพายุช่วงฤดูฝนนี้อีก 1 ลูก

วันนี้ (2 ต.ค. 67) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า จากการประเมินสถานการณ์ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. พบว่าในช่วง 2-3 ต.ค.67 ยังมีฝนตกหนักในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และเชียงราย จึงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงขอให้ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำกกเตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงน้ำล้นตลิ่งด้วย 

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ในภาพรวมเดือน ต.ค. 67 พบว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนลดลง เนื่องจากร่องความกดอากาศบริเวณพื้นที่ตอนบนของประเทศจะขยับเลื่อนลง ส่งผลให้มีฝนตกบริเวณภาคกลาง ก่อนจะขยับลงไปสู่พื้นที่ภาคใต้ในช่วงหลังวันที่ 15 ต.ค. 67 ตามลำดับ

โดยจากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้แหล่งน้ำทั่วประเทศสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 74% ของความจุแหล่งน้ำทั้งหมด ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะใช้สำหรับเป็นน้ำต้นทุนสำหรับกิจกรรมการใช้น้ำต่าง ๆ ในช่วงฤดูแล้งหน้า

พร้อมกันนี้ ได้มีการพิจารณาบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่มีน้ำมากโดยคำนึงถึงการป้องกันน้ำล้นเขื่อนส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งยังคงต้องมีการเตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดพายุได้อีก 1 ลูก ในเดือนนี้ ซึ่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามแนวโน้มของการเกิดพายุและทิศทางของพายุตลอดช่วงฤดูฝนนี้  

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ ขณะนี้น้ำที่เอ่อล้นในลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำวังทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วในเกือบทุกพื้นที่ โดยขณะนี้ได้เร่งระบายน้ำจากเขื่อนกิ่วลม - กิ่วคอหมา ซึ่งมีปริมาณน้ำมากเพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในการรองรับน้ำหากมีฝนตกเพิ่ม

ในส่วนของลุ่มน้ำยม มวลน้ำได้เคลื่อนตัวผ่าน จ.สุโขทัย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปริมาณน้ำในทุ่งบางระกำซึ่งเป็นพื้นที่หน่วงน้ำได้เกินความจุแล้ว

ที่ประชุมในวันนี้จึงมีมติในการปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนนเรศวร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำของแม่น้ำยม รองรับน้ำที่ระบายออกจากทุ่งบางระกำต่อไป

นอกจากนี้ ยังคงต้องระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อลดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนสำหรับรองรับปริมาณน้ำจากแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้โดยเร็วที่สุด แต่ให้คงการระบายไว้ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที และได้มีการทยอยระบายน้ำออกจากทุ่งลุ่มต่ำต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเพาะปลูกในช่วงเดือน พ.ย. 67 ด้วย

ทางด้านลุ่มน้ำชี แม้เขื่อนอุบลรัตน์จะมีปริมาณน้ำจำนวนมาก แต่เนื่องจากคาดว่าในช่วงนี้จะมีฝนตกน้อยลง จึงจะปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อช่วยเหลือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งของลำน้ำชี

สำหรับสถานการณ์ลุ่มน้ำมูล ได้เตรียมความพร้อมในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยก่อสร้างคันกั้นน้ำชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) โดยสามารถเพิ่มศักยภาพในการรองรับน้ำได้จาก 2,300 ลบ.ม. ต่อวินาที เป็น 3,200 ลบ.ม. ต่อวินาที

ลุ่มน้ำป่าสัก ในระยะที่ผ่านมาได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เนื่องจากมีน้ำไหลเข้าจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนเริ่มลดลงตามลำดับ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.5 ม. และได้ดำเนินการอุดแนวฟันหลอทั้งหมดแล้วเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุน ประกอบกับมวลน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่ไหลลงมามีปริมาณไม่มากนัก จึงจะไม่ส่งผลให้มีระดับน้ำสูงเกินกว่าปริมาณน้ำคาดการณ์ของกรมอุทกศาสตร์ ทั้งนี้ หน่วยงานด้านน้ำจะบูรณาการข้อมูลเพื่อประเมินเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง