น้ำท่วมหนัก 7 อำเภอ จ.อยุธยา จมบาดาล เดือดร้อนกว่า 20,000 หลังคาเรือน

น้ำท่วมหนัก 7 อำเภอ จ.อยุธยา จมบาดาล เดือดร้อนกว่า 20,000 หลังคาเรือน

อยุธยา เร่งหาแนวทางดูแลประชาชน เน้นกลุ่มเปราะบาง วัด โรงเรียน หลังน้ำล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อนกว่า 20,000 หลังคาเรือน

วันนี้ (3 ต.ค. 67) กรมชลประทาน แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยในวันที่ 3 ต.ค. นี้ จะปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา โดยเริ่มเวลา 13.00 น. ทยอยปล่อยน้ำจากอัตรา 1,899 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 1,950 ลบ.ม./วินาที เวลา 16.00 น. และคงอัตราดังกล่าวต่อเนื่อง

โดยเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมมหาธาตุ อาคาร 1 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุม เตรียมความพร้อมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย ครั้งที่ 7/2567 โดยมี นางปวีณา ทองสกุลพันธ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้รายงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

น้ำท่วมหนัก 7 อำเภอ จ.อยุธยา จมบาดาล เดือดร้อนกว่า 20,000 หลังคาเรือน
 

โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประชาชนประสบภัยน้ำล้นตลิ่ง จำนวน 7 อำเภอ 94 ตำบล 523 หมู่บ้าน รวม 20,292 ครัวเรือน ใน 7 อำเภอ ได้แก่

  1. อ.ผักไห่
  2. อ.เสนา
  3. อ.บางบาล
  4. อ.บางไทร
  5. อ.พระนครศรีอยุธยา
  6. อ.บางปะอิน
  7. อ.บางปะหัน

นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า การที่กรมชลประทาน เตรียมเพิ่มปริมาณการระบายน้ำแตะระดับ 2,000 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันอีกประมาณ 1.00-1.50 เมตร ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา, ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ริมแม่น้ำน้อย ซึ่งทางจังหวัดฯ ได้สั่งการให้ทุกอำเภอเข้าช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มเปราะบาง วัด โรงเรียน

น้ำท่วมหนัก 7 อำเภอ จ.อยุธยา จมบาดาล เดือดร้อนกว่า 20,000 หลังคาเรือน
 

นอกจากนี้ได้สั่งการให้ เจ้าท่าภูมิภาค สาขาอยุธยา จัดทำประกาศแจ้งเตือนกำชับให้ เรือขนส่งสินค้าระมัดระวังการเดินเรือเป็นพิเศษ ขณะที่เดินเรือผ่านบริเวณบ้านเรือนประชาชน เพราะจะทำให้เกิดคลื่นเรือกระทบกับบ้านเรือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก พร้อมทั้งกำชับผู้ประกอบการแจ้งนักท่องเที่ยวให้สวมเสื้อชูชีพตลอดเวลา ขณะโดยสารเรือ

เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำ มีกระแสน้ำที่ไหลแรง รวมถึงสั่งการให้แขวงทางหลวงอยุธยา และแขวงทางหลวงชนบทพระนครศรีอยุธยา จัดทำป้ายแจ้งเตือน หรือสัญญลักษณ์บนถนน เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้ทราบ ว่ามีจุดที่ประชาชนอพยพขึ้นมาอยู่บนผิวจราจร