รายงานข้อมูลซ้ำ สร้างต้นทุนซ้อนในตลาดทุน

รายงานข้อมูลซ้ำ สร้างต้นทุนซ้อนในตลาดทุน

“Time is Money” เป็นแนวคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการจัดการเวลาและต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ แต่สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ยังต้องเผชิญกับภาระการจัดทำรายงานที่มีความซ้ำซ้อน ซึ่งทำให้ต้องแบกรับต้นทุนที่ไม่จำเป็น

ในทุกปีบริษัทจดทะเบียนต้องจัดทำรายงานข้อมูลเพื่อยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ที่กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะต้องส่งเอกสารสำคัญหลายรายการ อันได้แก่ งบการเงิน รายงานประจำปี รายงานประชุมสามัญประจำปี และทะเบียนผู้ถือหุ้น 

โดยการรายงานแก่สำนักงาน ก.ล.ต และ SET สามารถส่งผ่านระบบ SETLink (ระบบงานสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนฯ) ได้ภายในระบบเดียว 

ขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนก็ยังต้องส่งรายงานงบการเงินชุดเดียวกันนี้ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผ่านระบบ DBD E-Filling (ระบบการให้บริการรับงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์) 

ทั้งที่ข้อมูลที่จัดส่งแก่หน่วยงานทั้งสามแห่งนั้นส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็น งบการเงิน หรือแม้แต่ทะเบียนผู้ถือหุ้น  

สำหรับขั้นตอนการรายงานข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนนั้น มีส่วนงานหลักที่เกี่ยวข้องคือ ฝ่ายเลขานุการบริษัทและฝ่ายบัญชี แต่ละฝ่ายงานต้องใช้ทั้งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเพื่อจัดเตรียมข้อมูล ระดับกลางเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ไปจนถึงระดับบริหารเพื่อลงนามอนุมัติเอกสาร 

โดยประเมินเป็นต้นทุนประมาณ 1,593 บาทต่อครั้ง/บริษัท ต้นทุนนี้จะเพิ่มขึ้น 100 เท่าหากคำนวณจากภาระของบริษัทที่จดทะเบียนใน SET 100 และเพิ่มเป็น 700 เท่า หากคำนวณจากภาระของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด

แม้ทั้งสามหน่วยงานจะพยายามแก้ไขปัญหา โดยสร้างระบบยื่นเอกสารออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้บริษัทจดทะเบียนสามารถจัดส่ง “ข้อมูลงบการเงิน” เข้าระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยอาศัยแบบฟอร์มข้อมูลงบการเงินเดียวกันที่ใกล้เคียง กับข้อมูลที่จัดส่งผ่าน SET เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บริษัทจดทะเบียนแล้วก็ตาม

ส่วนในกรณีของข้อมูล “ทะเบียนผู้ถือหุ้น” ที่บริษัทจดทะเบียนต้องจัดส่งหลังจากมีการประชุมสามัญประจำปีอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และยังต้องขอคัดเอกสารจากบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) หรือ TSD แล้วจึงค่อยนำส่งข้อมูลแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 

ในขณะเดียวกันกรณีที่บริษัทจดทะเบียนมีการเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว ก็ต้องขอคัดเอกสารจาก TSD เพื่อยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ดำเนินการรับจดทะเบียนทุนชำระ ก่อนส่งให้ SET อีกครั้งเพื่อแจ้งผู้ถือหุ้นต่อไป

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า แม้การจัดส่งข้อมูลส่วนใหญ่ในปัจจุบันสามารถดำเนินการผ่านระบบดิจิทัลได้แล้วก็ตาม แต่ยังสามารถพัฒนาต่อยอดหากสำนักงาน ก.ล.ต. และ SET ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนที่บริษัทจดทะเบียนต้องส่งข้อมูลงบการเงิน และทะเบียนผู้ถือหุ้นให้ทั้งสามหน่วยงานแยกจากกัน

หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศพบว่า ประเทศญี่ปุ่นมีข้อกำหนดให้บริษัทต้องยื่นส่งรายงานงบการเงินแก่หน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่งคล้ายกับประเทศไทย แต่ภาครัฐมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ

โดยสามารถส่งรายงานข้อมูลต่อ Financial Services Agency: FSA (เทียบเท่ากับสำนักงาน ก.ล.ต.) และ The Civil Affairs Bureau ซึ่งเป็นนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด ผ่านแพลตฟอร์มรายงานข้อมูลกลางที่ชื่อว่า Electronic Disclosure for Investors' NETwork (EDINET) เพียงระบบเดียว จึงไม่ต้องยื่นส่งรายงานซ้ำซ้อนกัน

สำหรับประเทศไทยนั้น หากมีการปรับปรุงระบบการรับส่งข้อมูลระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต SET และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกัน เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถส่งข้อมูลรวมที่จุดเดียว คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนของบริษัทจดทะเบียนได้ประมาณร้อยละ 15 หรือประมาณ 281.25 บาทต่อครั้ง/บริษัท

ความร่วมมือดังกล่าวนี้น่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้าเคยร่วมลงนามตกลงเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานหลายแห่ง เช่น กรมสรรพากรเพื่อประโยชน์ในด้านการจัดเก็บภาษีของธุรกิจรวมทั้งงบการเงิน และเชื่อมโยงข้อมูลหลักประกันธุรกิจกับ 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจ้าท่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมการขนส่งทางบก เพื่อความสะดวกในการจดทะเบียนและสืบค้นข้อมูลทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันในรูปแบบออนไลน์

ด้วยเหตุนี้ หากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องการเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบของ SET อาจพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎระเบียบภายในเพื่อยืนยันว่าข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจาก สำนักงาน ก.ล.ต. และ SET ถือเป็นข้อมูลที่ได้รับรองตาม พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และให้มีสภาพบังคับตามกฎหมายด้วย

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามข้อเสนอในเรื่องการเชื่อมต่อข้อมูลดังกล่าวก็ยังมีความท้าทายที่สำคัญ เพราะรายละเอียดของชุดข้อมูลยังมีความแตกต่างบางประการ

เช่น ข้อมูลงบการเงินที่นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีการแยกรายละเอียดอย่างข้อมูลเงินลงทุนระยะสั้นและกระแสเงินสด และยังต้องนำส่งข้อมูลงบปีปัจจุบันพร้อมกับงวดปีเปรียบเทียบ แต่การนำส่งแก่ SET และสำนักงาน ก.ล.ต. มีการแยกรายละเอียดที่น้อยกว่า

รวมทั้งกรอบระยะเวลาการจัดส่งข้อมูลที่ความแตกต่างกัน เช่น การนำส่งรายงานงบการเงินให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องส่งภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่การนำส่งผ่าน SET ต้องส่งภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาบัญชี

ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. SET และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงควรพิจารณาปรับปรุงการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันเพื่อหาจุดร่วมระหว่างกันและออกแบบระบบให้เหมาะสมและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่หน่วยงานต้องการ

ต้นทุนดังกล่าวแม้จะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่หากหน่วยงานสามารถปรับปรุงกระบวนการรายงานข้อมูลให้มีความสะดวก ลดความซ้ำซ้อนของการรายงานข้อมูลชุดเดียวกันระหว่างหน่วยงาน การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และยังส่งเสริมการยกระดับขีดความสามารถของตลาดทุนไทยในภาพรวมได้ในที่สุด

บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “โครงการกิโยตินกฎระเบียบ ตลาดทุน” โดยทีดีอาร์ไอและกองทุนส่งเสริม การพัฒนาตลาดทุน (CMDF)