หยุดยาว 12 - 14 ต.ค. 67 คาดเดินทาง 8 – 9 หมื่นคน/วัน ตรวจเข้มรถโดยสาร เพิ่มความปลอดภัย

หยุดยาว 12 - 14 ต.ค. 67 คาดเดินทาง 8 – 9 หมื่นคน/วัน  ตรวจเข้มรถโดยสาร เพิ่มความปลอดภัย

บขส. ตรวจเข้มรถโดยสารบริษัท – รถร่วมฯ ก่อนออกให้บริการ เพิ่มความปลอดภัย เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกประชาชนเดินทางหยุดยาว 12 - 14 ต.ค.นี้ คาดกลับต่างจังหวัดวันละ 8 – 9 หมื่นคน นั่งรถโดยสารกว่า 7 พันเที่ยวต่อวัน

นายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ตามที่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้ บขส. กำกับดูแลด้านความปลอดภัยของรถโดยสารและอำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางช่วงวันหยุด วันนวมินทรมหาราช ซึ่งเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง 3 วัน วันที่ 12 – 14 ต.ค.2567 คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางกลับต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก โดย บขส. คาดการณ์จะมีผู้โดยสารเดินทางทั้งเที่ยวไป – เที่ยวกลับ เฉลี่ยวันละ 80,000 – 90,000 คน ใช้รถโดยสาร (รถ บขส., รถร่วม, รถตู้) เฉลี่ยวันละ 6,000 – 7,000 เที่ยววิ่ง

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กองซ่อมบำรุง, กองกิจการเดินรถ, งานส่งเสริมกิจการขนส่ง และงานป้องกันอุบัติเหตุ กองคุ้มครองผู้โดยสาร นำเจ้าหน้าที่และพนักงาน เข้าตรวจสภาพ รถโดยสาร บขส. และ รถร่วมฯ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่มาใช้บริการ และเตรียมรถโดยสารให้พร้อมก่อนออกบริการประชาชน เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจในการเดินทางดังนี้  

1.วันที่ 7 ต.ค.2567 ออกตรวจรถโดยสาร บขส. และ รถร่วมฯ ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2

2.วันที่ 10 ต.ค.2567 ออกตรวจรถโดยสาร บขส. และ รถร่วมฯ ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารบรมราชชนนี (สายใต้ใหม่) 3.วันที่ 11 ต.ค.2567 ออกตรวจรถโดยสาร บขส. และ รถร่วมฯ สถานีขนส่งหมอชิต 2

นายอรรถวิท กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสภาพรถโดยสาร จะเน้นการตรวจอุปกรณ์ส่วนควบและอุปกรณ์ความปลอดภัยภายในรถโดยสาร เช่น ยางรถ, เข็มขัดนิรภัย, ถังดับเพลิง, ค้อนทุบกระจก และทางออกประตูฉุกเฉิน เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หากมีเหตุฉุกเฉินสามารถนำมาใช้งานได้ทันที ขณะเดียวกันหากพบรถโดยสารที่บกพร่อง อุปกรณ์ส่วนควบไม่เป็นไปตามมาตรฐานเงื่อนไขการเดินรถจะแจ้งให้รถโดยสารคันดังกล่าว นำไปแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนนำมาให้บริการผู้โดยสารต่อไป 

นอกจากนี้ยังได้แจกคู่มือแผ่นพับให้พนักงานขับขับรถ และพนักงานบริการประจำรถ (บริกร) เกี่ยวกับเรื่องความรู้ ป้องกัน ลดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ป้องกันเชิงรุก บรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัย ซึ่งจะมีขั้นตอนวิธีการใช้ถังดับเพลิง, การใช้ค้อนทุบกระจกและทางออกฉุกเฉิน รวมทั้งกำชับให้พนักงานบริการประจำรถ ประชาสัมพันธ์แนะนำผู้โดยสารให้ทราบข้อมูลด้านความปลอดภัยขณะใช้บริการรถโดยสารอีกด้วย