สปสช. เคาะ ใช้สมุนไพรบัญชียาหลัก แทนยาแผนปัจจุบัน 10 กลุ่มโรค
บอร์ด สปสช. ไฟเขียว ใช้ยาสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติทุกรายการ เพื่อทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน รักษา 10 กลุ่มโรค
วันนี้ (5 พ.ย. 67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติทุกรายการ เพื่อทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน สำหรับผู้ป่วยใน 10 กลุ่มโรค และอาการสำคัญจำนวน 32 รายการ และเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพให้คลินิกการแพทย์แผนไทย ของภาคเอกชน สามารถเบิกจ่ายสมุนไพรได้
นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ยังเห็นชอบให้ปรับระบบผู้ป่วยล้างไต โดยเพิ่มสัดส่วนบริการล้างไตทางช่องท้องให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยรายใหม่ ควบคุมงบค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังให้ไม่เกินร้อยละ 12 ของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในระยะเวลา 5 ปี ให้นำนโยบาย PD First (สิทธิรักษาผู้ป่วยเรื้อรัง) กลับมาใช้ทันที เพื่อลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย
พร้อมกันนี้ บอร์ด สปสช. ได้รับทราบและเห็นชอบในหลักการ ข้อเสนอการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยได้มอบให้ สปสช. ออกแบบกลไกการบริหารงบประมาณ แหล่งงบประมาณ หลักเกณฑ์ วิธีการ และการจ่ายชดเชยค่าบริการ เพื่อรองรับการจัดบริการและตัวชี้วัดดังกล่าว และด้วยความร่วมมือขับเคลื่อนของทุกฝ่ายนี้
รวมทั้ง สปสช. ทำให้นโยบายในการยกระดับการสาธารณสุขไทยฯ บรรลุเป้าหมายได้ และเห็นชอบให้จัดชุดเครื่องมือให้บริการ (Service Packages) ของ อสม. เพื่อลด NCDs ในชุมชน อาทิ เครื่องชั่งน้ำหนักและสายวัดรอบเอว เครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพา เครื่องวัดความเค็ม (Salt Meter) เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลปลายนิ้วพร้อมแผ่นตรวจ เป็นต้นพร้อมทั้งให้ความรู้กลุ่มเสี่ยงและติดตามเพื่อควบคุมผู้ป่วยตามแผนการรักษาของแพทย์
ทั้งยังได้เห็นชอบ การใช้ตัวชี้วัด เพื่อกำกับติดตามผู้ป่วย โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง สำหรับการจ่ายตามผลลัพธ์บริการ จำนวน 5 ตัวชี้วัด ดังนี้
- ลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังรายใหม่
- จำนวนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงอยู่ตามเป้าหมายโดยไม่ต้องใช้ยาในการตรวจ 2 ครั้งติดกัน ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน
- จำนวนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมายในการตรวจ 2 ครั้งติดกัน ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน
- จำนวนผู้ป่วยความต้นโลหิตสูง ที่ควบคมความดันโลหิตสูงได้ตามเป้าหมายในการตรวจ 2 ครั้งติดกัน ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน
- จำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ระยะที่ 1 - 3 ลดโอกาสการดำเนินโรค ชะลอความเสี่ยงของไตไปเป็นระยะที่ 3 หรือมากกว่าในการตรวจ 2 ครั้งติดกัน ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน ที่ประชุมยังเห็นชอบกิจกรรมของ อสม. ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนเชิงรุก
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ที่ขาดสภาพคล่องไม่สามารถรับการส่งต่อผู้ป่วยจากคลินิกปฐมภูมิ ตั้งแต่ 1 พ.ย.โดยเร่งรัดให้ สปสช.จ่ายค่าชดเชยบริการ OP refer และ CR แก่หน่วยบริการรับส่งต่อ
ทั้งนี้ ยืนยันว่า มีงบประมาณ ที่จะจ่ายให้แต่ติดปัญหาระบบตรวจสอบก่อนจ่ายโดยคลินิกจึงขอให้ปรับระบบให้มีความรวดเร็วเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรงบประมาณ