วช.จัดเวทีประลองฝีมือเยาวชนดนตรี ปี 68 ดันสร้างสรรค์ผลงาน สู่ซอฟต์พาวเวอร์
วช.เดินหน้าโครงการวิจัยดนตรีประจำชาติ พัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชน ผนึกมูลนิธิอาจารย์สุกรี ไทยพีบีเอส จัดเวที"ประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ประจำปี 2568" สร้างสรรค์ผลงานดนตรีไทย-สากล พัฒนาสู่ซอฟต์พาวเวอร์ 6 ทีมสุดท้ายร่วมแสดงกับ Thai Symphony Orchestra
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมด้วยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดเวที “ประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2568" ภายใต้โครงการวิจัยดนตรีประจำชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชน นำเพลงไทยดั้งเดิมปรับแต่งใหม่ให้ทันสมัย ผสมผสานกับเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด ทั้งไทยและสากล รวมถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานดนตรีไปสู่สายตาชาวโลก
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. เปิดเผยว่า โครงการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนนักดนตรี ได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ตลอดจนผลักดันให้ผู้ผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขันครั้งที่ 1 ได้มีเวทีในการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีต่อยอดพัฒนาให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งนี้ทีมเยาวชนดนตรีที่ผ่านรอบคัดเลือกออนไลน์ ได้เข้าสู่เวทีรอบการแสดงสดในเวทีการแข่งขันที่ไทยพีบีเอส และในช่วงต่อไปอีก 2 เวที ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จ.นครราชสีมา และที่ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์
"วช. พร้อมด้วยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และไทยพีบีเอส ร่วมกันสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการประลองดนตรีในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้นักดนตรีรุ่นใหม่พัฒนาฝีมือสู่ระดับมืออาชีพ และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในวงการดนตรีระดับสากลต่อไป" ดร.วิภารัตน์กล่าว
ด้าน รศ.ดร. สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการวิจัยดนตรีประจำชาติ ระบุว่า การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้โชว์ความสามารถทางดนตรีและไอเดียสร้างสรรค์ โดยการนำเพลงไทยดั้งเดิมปรับแต่งใหม่ให้ทันสมัย ผสมผสานกับเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด ทั้งไทยและสากล รวมถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานดนตรีไปสู่สายตาชาวโลก
ปีนี้มีวงดนตรีสมัครเข้ามามากกว่าปีที่แล้ว รวม 26 วง ทุกคนเตรียมตัวมาดี แสดงถึงความตื่นตัวของเยาวชนสูงมาก สิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนวงเล็กๆ เหล่านี้คือ จะไปทำมาหากินได้ง่ายเพราะในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ มีความต้องการวงดนตรีขนาดเล็กมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวกับ Entertainment business โรงแรมต่างๆ
ขณะที่สังคมไทย มหาวิทยาลัยไทยไม่ได้สร้างวงเล็กๆ ออกไปรับใช้สังคม แต่เมื่อมีการประลองครั้งนี้ทำให้เด็กอยากเล่นดนตรี ถือว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จพอสมควร และพ่อแม่ผู้ปกครองก็ตื่นเต้นกับเด็ก กรรมการทั้ง 4 รอบก็เป็นครูบาอาจารย์มาจากทั่วประเทศ สถาบันดนตรีต่างๆ ให้ความสนใจมาก วช.ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง รวมทั้งไทยพีบีเอสที่เป็นพาร์ตเนอร์ด้วย
“ยกตัวอย่างโครงการซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล อันนี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง และมีพลังมาก หากใช้ดนตรีเยอะๆ ทุกชุมชนทุกหย่อมหญ้า ประเทศก็จะมีความสุขสมบูรณ์มากขึ้นเพราะความสุขจากเสียงดนตรีทำให้คนมีความรักความสามัคคี เนื่องจากดนตรีไม่มีชนชั้น ไม่มีพรมแดนไม่มีศาสนา ไม่มีเชื้อชาติ เข้าได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนประเภทไหน อย่างตอนนี้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก เราเป็นประเทศที่ยังคงรักษาดนตรีพื้นบ้านท้องถิ่นไว้ได้ ถ้านำมาใช้เพื่อรับแขกบ้านแขกเมือง ด้วยนักดนตรีมีฝีมือ ดนตรีก็กลายเป็น Universal language เป็นดนตรีของจักรวาล เป็นดนตรีนานาชาติ เป็นดนตรีของโลก" รศ.ดร.สุกรี กล่าว
ขณะที่ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดง(การประพันธ์เพลง) ประธานกรรมการตัดสินการประลองเยาวชนดนตรีฯ กล่าวว่า ปีนี้เด็กๆ เก่งหลายคน มีวงที่เคยเข้ามาก็พัฒนาขึ้นเยอะ โดยผสมผสาน
ระว่างดนตรีไทยกับดนตรีสากล บางคนยังเป็นแค่เด็กมัธยมปลาย แต่ฝีมือเก่งมาก ส่วนคนแต่งก็ทำได้ดี มีความคิดทางดนตรีที่แตกฉาน และกล้าแสดงออก การประลองฝีมือแบบนี้เป็นสิ่งที่ดี สามารถพัฒนาไปเป็นศิลปินที่เก่งต่อไปในภายภาคหน้าได้ นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์ เพราะเด็กๆ ได้มาแสดงออก สิ่งสำคัญคือ เวทีนี้ไม่ได้มีกำหนดที่รัดตัวมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้คิดได้ทำ ได้เห็นอะไรที่แตกต่างไปจากดนตรีคลาสสิคทั่วไป
“อยากให้ผู้ปกครองมองว่า ในอนาคต ลูกหลานจะประกอบอาชีพทางสาขาดนตรีหรือไม่ก็ตาม แต่นี่ถือเป็นกิจกรรมที่ดี สร้างเสริมความเป็นมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าเด็กจะต่อยอดขนาดไหน จะเป็นอาชีพก็ได้ หรือจะทำให้ตัวเองมีความสามารถที่เก่งกว่าคนอื่นๆ ก็ได้ รวมถึงมีดนตรีในหัวใจ จะได้เป็นนักฟังที่ดี หรือแม้กระทั่งจะเป็นงานอดิเรกก็ได้” ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์
ด้านนายประวิทย์ คงขวัญรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายสารคดีและสารประโยชน์ ไทยพีบีเอส กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ทำงานร่วมกับมูลนิธิอาจารย์สุกรีฯ เป็นระยะเวลา5 ปี ในการถ่ายทอดงานวิจัยกับทาง วช. เรื่องงานดนตรีพื้นบ้านไปแสดงตามจังหวัดต่างๆ ที่มีมรดกทางวัฒนธรรม และโบราณสถาน สำหรับการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้เพราะเห็นว่าเยาวชนไทยมีความสามารถด้านดนตรีอีกมาก แต่ไม่ได้มีการแข่งขันกัน
ขณะที่ไทยพีบีเอสอยากปลูกฝังสิ่งที่เป็นรากของคนไทย โดยมีการรวมตัวกันและใช้เครื่องดนตรีที่ถนัดแต่ผ่านการเรียบเรียงใหม่ ซึ่งน่าสนใจมาก ทางไทยพีบีเอสเองอยากสนับสนุนอยู่แล้วโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนของไทยที่มีความสามารถในด้านดนตรีเพื่อต่อยอดคนรุ่นเก่าโดยคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นไป ครั้งนี้เป็นโครงการประลองครั้งที่ 2 ทางไทยพีบีเอสเองก็ให้พื้นที่ในการบันทึกเทป โดยคัดเลือกจาก 8 ทีมเหลือ 6 ทีมเพื่อไปเล่นร่วมกับ Thai Symphony Orchestra ที่พิมาย และปราสาทเมืองต่ำ
ด้านนายนิชคุณ สิงห์สถิตย์ เยาวชนที่ร่วมการประลองเยาวชนดนตรีทั้ง 2 ครั้ง เปิดเผยว่า ตอนแข่งในซีซั่นแรก ไม่ได้มาในนามโรงเรียน มากันเองกับเพื่อนๆ 3 คน สมัครกันเอง ชื่อวงสิงห์บรรลือ ได้เข้ารอบชิง 6 ทีมสุดท้าย ครั้งนี้ก็ร่วมด้วย แต่ไม่ผ่านรอบ 8 ทีม เวทีนี้มีประโยชน์หลายด้าน ทั้งได้ประสบการณ์ ทักษะต่างๆ และการวางแผน การจัดครั้งที่ 2 นี้พัฒนาจากรอบที่แล้วเยอะขึ้น มีอะไรแปลกใหม่ เห็นบางวง ก็มีนำดนตรีต่างประเทศมาเล่นด้วย
“จากที่ผมเคยไปแข่งเวทีอื่น แตกต่างจากเวทีนี้เยอะทีเดียว เวทีนี้ที่เด่นๆ คือเรามีโอกาสได้เล่นกับวงออเคสตร้า ได้ทำงานกับทีมใหญ่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ ความยากของการเล่นกับวงใหญ่ ต้องพูดคุยกันให้เข้าใจ ถึงจะลงตัว ปีนี้ที่วงของผมไม่เข้ารอบ เพราะใช้เพลงเก่ามาเล่น ปีหน้าจะสมัครอีก จะฟอร์มทีมใหม่ ในตอนนี้พอมองเกมออกในระดับหนึ่งแล้ว เวทีนี้มีประโยชน์มากๆ อยากเชิญชวนให้มากันเยอะๆ เพราะเป็นเวทีที่มอบประสบการณ์ให้มากกว่าที่คิดไว้” นายนิชคุณ กล่าว
สำหรับวงดนตรี 6 วงสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ ประกอบด้วย วง Momentoom, Tempesta Trio, Einschlag, Ensemble Violimba, พิชชโลห์ และ Pirun Naga Quintet โดยจะมีโอกาสแสดงร่วมกับ Thai Symphony Orchestra ที่พิมาย และปราสาทเมืองต่ำ