ภาคอีสาน - กลาง – เหนือ หมดช่วงฤดูฝน รัฐบาล เตรียมรับมือภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ปี 68
รัฐบาล เตรียมรับมือภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ปี 68 หลังภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ หมดช่วงฤดูฝน เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว
รัฐบาล เตรียมรับมือ "ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ปี 68" หลังภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ หมดช่วงฤดูฝน เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยหลัง การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 5/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญที่ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ
1. ขอมอบแนวทางเพิ่มเติม ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงตาม 8 มาตรการที่เคยให้ไว้
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนและเร่งดำเนินงาน ฟื้นฟูผลกระทบ และความเสียหาย ที่เกิดจากสถานการณ์อุทกภัยให้กลับคืนสภาพโดยเร็ว
3. เร่งสำรวจตรวจสอบซ่อมแซม คันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ และตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน
4. ส่วนของภาคใต้ที่เข้าสู่ฤดูฝน ขณะนี้ สทนช. ได้ตั้งศูนย์ส่วนหน้า เพื่อเตรียมดำเนินการรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ขอให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หรือดินโคลนถล่มก็ตาม ระยะหลังเกิดปรากฏการณ์นี้บ่อย ๆ แจ้งให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์น้ำ ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 67/68 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 68 ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว
มอบหมายให้กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ประชาสัมพันธ์แผนการจัดสรรน้ำและแผนการเพาะปลูกพืชในเขตชลประทาน พร้อมควบคุมการใช้น้ำและพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด
สำหรับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลที่มีปริมาณน้ำน้อย ให้กรมชลประทานสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ พร้อมกันนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่คาดการณ์เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และหากพื้นที่ดังกล่าวมีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากขึ้น ให้แจ้งไปยัง สทนช. เพื่อบูรณาการหน่วยงานเแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที
รวมถึงให้หน่วยงานที่เสนอขอรับงบกลาง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพฯ ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 68 เร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมของโครงการ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำตามมาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ
นายประเสริฐกล่าวเพิ่มว่า แม้ว่าขณะนี้ปริมาณฝนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะเริ่มลดลงแล้ว แต่ยังคงมีประชาชนบางพื้นที่ ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมกันนี้ ให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด ซึ่งมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม จึงให้เตรียมความพร้อมรับมืออย่างเต็มที่
โดยได้เน้นย้ำเรื่องการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าและเตรียมตัวได้ทันท่วงทีเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยต้องมีการติดตามประเมินผลเพื่อปรับการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุดด้วย นอกจากนี้ ต้องกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว เพื่อวางแผนการพัฒนาโครงการที่สามารถรองรับการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น