'อุโมงค์ผันน้ำแม่งัดแม่กวง' สืบสานพระราชปณิธาน แก้ปัญหาน้ำเชียงใหม่

'อุโมงค์ผันน้ำแม่งัดแม่กวง' สืบสานพระราชปณิธาน แก้ปัญหาน้ำเชียงใหม่

กรมชลประทานแก้ปัญหาน้ำ จ.เชียงใหม่ น้อมนำแนวพระราชดำริ การบริหารจัดการน้ำ ต่อยอด ขยายผล ดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตามพระราชปณิธานของในหลวง ร.10 สืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระราชบิดา

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change ในปัจจุบันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภัยจากน้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว ดินถล่ม ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน แม้จะไม่รุนแรงเหมือนในต่างประเทศ แต่ก็สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินคิดเป็นมูลไม่น้อย 

การเติบโตทางการเศรษฐกิจ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จำเป็นจะต้องวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะสายเกินแก้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความมั่นคงให้ประชาชน

จ.เชียงใหม่ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคเหนือ เป็นอีกพื้นหนึ่งที่ประสบปัญหา ทั้งขาดแคลนน้ำ และปัญหาน้ำท่วม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของชุมชน ทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง และมากกว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จนเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง  

ในขณะเดียวกันลุ่มน้ำตอนบนของ จ.เชียงใหม่ คือ ลุ่มน้ำแม่แตง และลุ่มน้ำแม่งัด กลับมีปริมาณน้ำเกินความต้องการ และมีปริมาณน้ำท่าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจนเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ

\'อุโมงค์ผันน้ำแม่งัดแม่กวง\' สืบสานพระราชปณิธาน แก้ปัญหาน้ำเชียงใหม่

กรมชลประทาน หน่วยงานหลักด้านน้ำของประเทศ ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของ จ.เชียงใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริ เครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) และพระราชดำริโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในการบริหารจัดการน้ำ จากพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากไปยังพื้นที่ขาดแคลนน้ำมาต่อยอดขยายผล ดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งเป็นไปตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระราชบิดา

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา  หรือที่นิยมเรียกกันว่า "โครงการอุโมงค์ผันน้ำแม่งัดแม่กวง" มีลักษณะการดำเนินโครงการเช่นเดียวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ เพื่อทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ซึ่งมีปริมาณน้ำมาก มายังอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อย ก่อนกระจายน้ำให้พื้นที่การเกษตรของลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน สามารถสร้างประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ในเขต อ.เขาวง ได้มากกว่า 12,000 ไร่

\'อุโมงค์ผันน้ำแม่งัดแม่กวง\' สืบสานพระราชปณิธาน แก้ปัญหาน้ำเชียงใหม่

สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารานั้น กรมชลประทานใช้แนวทางการบริหารจัดการน้ำเช่นเดียวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า ซึ่งเป็นการพัฒนาลุ่มน้ำปิงตอนบน เพื่อให้การบริหารจัดน้ำในลุ่มน้ำสาขาสำคัญๆ 3 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำแม่กวง ลุ่มน้ำแม่งัด และลุ่มน้ำแม่แตง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ลุ่มน้ำแม่กวง กรมชลประทานได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาตั้งแต่ปี 2519 เพื่อประโยชน์ด้านอุปโภค บริโภค และการเกษตร ในเขตพื้นที่จ.เชียงใหม่ และจ.ลำพูน ประมาณ 175,000 ไร่ แต่ด้วยลุ่มน้ำแม่กวง มีความต้องการน้ำสูงขึ้น ทั้งจากภาคเกษตรกรรม และภาคการท่องเที่ยว จนเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำประมาณ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม)ต่อปี และจะเพิ่มเป็น 173 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นต้องจัดหาน้ำเพิ่มให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ 

นอกจากนี้ ปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างฯ ในแต่ละปียังมีน้อยกว่าปริมาณความจุอีกด้วย เฉลี่ยปีละ 202 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น อย่างเช่นในปีนี้ แม้จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน แต่ปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงก็ยังไม่เต็มความจุ ก่อนสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2567 มีปริมาณน้ำ 210 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 80% ของความจุในระดับกักเก็บคือ 263 ล้านลบ.ม.   

\'อุโมงค์ผันน้ำแม่งัดแม่กวง\' สืบสานพระราชปณิธาน แก้ปัญหาน้ำเชียงใหม่

ลุ่มน้ำแม่งัด ได้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วเสร็จเมื่อปี 2528 มีความจุในระดับกักเก็บ 265 ล้าน ลบ.ม. เพื่อประโยชน์ด้านอุปโภค บริโภค การเกษตร และการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ทำการเกษตรรวมทั้งหมด 207,289 ไร่ แต่ปริมาณน้ำที่มีอยู่เกินความต้องการ ประกอบกับปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างฯ ในแต่ละปีมีจำนวนเกินความจุของอ่างฯ เฉลี่ยประมาณปีละ 332 ล้านลบ.ม. อย่างเช่นในฤดูปีนี้ มีปริมาณน้ำสูงสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 มีปริมาณน้ำถึง 298.78 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 112.74% เกินความจุในระดับกักเก็บ 

ส่วนลุ่มน้ำแม่แตง ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ มีเพียงประตูระบายน้ำแม่ตะมาน และฝายแม่แตง แต่มีปริมาณน้ำมากกว่าลุ่มน้ำอื่นๆ เฉลี่ยประมาณปีละถึง 622 ล้าน ลบ.ม.

การดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่แตง - แม่งัด - แม่กวง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างเสถียรภาพของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ตลอดจนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมในพื้นที่จ.เชียงใหม่ และจ.ลําพูนได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศท้ายน้ำอีกด้วย โดยประกอบด้วยงานสำคัญๆ คือ งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมต่อระหว่างอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อผันน้ำส่วนเกินตามแรงโน้มถ่วง(Gravity) จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีปริมาณน้ำเกินความต้องการเฉลี่ย 47 ล้านลบ.ม.ต่อปี มาเก็บไว้ที่อ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และงานก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นลํานํ้าแม่แตงที่บ้านแม่ตะมาน ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ 

พร้อมก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากลําน้ำแม่แตง มายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อผันนํ้าส่วนที่เกินความต้องการใช้นํ้าในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน จากลำน้ำแม่แตงมายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เฉลี่ยประมาณปีละ 113 ล้าน ลบ.ม. โดยผันน้ำตามแรงโน้มถ่วงเช่นเดียวกัน เมื่อดําเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการ จะสามารถผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ 160 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี

\'อุโมงค์ผันน้ำแม่งัดแม่กวง\' สืบสานพระราชปณิธาน แก้ปัญหาน้ำเชียงใหม่

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังจะดำเนินการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล กลับไปยังระบบส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำแม่แตงในฤดูแล้งประมาณ 25 ล้านลบ.ม. ต่อปี สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้ 14,550 ไร่ ตลอดจนช่วยสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่ จ.เชียงใหม่และลำพูน จากปีละ 13.31 ล้าน ลบ.ม. เป็น 49.99 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั้ง 3 ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำปิงดังกล่าว ได้รับประโยชน์จากโครงการโดยตรง มีความมั่นคงในเรื่องน้ำ เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคตลอดปี รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะในลุ่มน้ำแม่แตง และพื้นที่เศรษฐกิจของจ.เชียงใหม่ อีกด้วย

การดำเนินโครงการ เพิ่มปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขณะนี้มีความคืบหน้ามากกว่า 80% แล้ว คาดว่าภายในปี 2572 อุโมงค์ผันน้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยก็จะเสร็จสมบูรณ์ ปัญหาน้ำของจ.เชียงใหม่จะคลี่คลายลง