หนุนใช้ 5 นวัตกรรมการแพทย์แผนไทยฯ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน

หนุนใช้ 5 นวัตกรรมการแพทย์แผนไทยฯ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน

รมช.สาธารณสุข ประชุม ขับเคลื่อนนโยบายดูแลผู้สูงอายุในชุมชนด้วย 5 นวัตกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก “ยางยืดพิชิตโรค - แผงไข่มะกรูด - ชักรอก - ผ้าขาวม้าคลายปวด - ตาราง 9 ช่อง” สร้างความเชื่อมั่น ยกระดับนวัตกรรมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วันนี้ (20 พ.ย. 67) ที่ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนดาแกรนด์ จังหวัดนนทบุรี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการพัฒนานวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมี นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คณะผู้บริหารและภาคีเครือข่ายด้านการดูแลผู้สูงอายุ เข้าร่วมกว่า 200 คน

โดยกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ และส่งเสริมภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพประชาชนโดยสนับสนุนการทำงานของ อสม. และผลิตผู้ดูแลให้พร้อมรองรับสังคมสูงอายุ ตลอดจนสนับสนุนการใช้ยาจากสมุนไพรไทยเสริมประสิทธิภาพการรักษาแผนปัจจุบัน ซึ่งล่าสุด มีรายการยาจากสมุนไพรที่สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันและเบิกจ่ายได้ตามรายการบริการ (Fee Schedule) 27 รายการ รวมทั้งมีการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์นวัตกรรมพอกเข่ารองรับสังคมสูงอายุอีกด้วย 

นายเดชอิศม์ กล่าวต่อว่า ในผู้สูงอายุ  60-69 ปี พบว่า ร้อยละ 69.3 ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง และพบเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงได้พัฒนารูปแบบและนวัตกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยบูรณาการร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน และภาคเครือข่ายในระดับชุมชน ครอบคลุมทั้งกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง และติดสังคม โดยในปี 2568 มุ่งขยายผลการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจรในพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดของแต่ละเขตสุขภาพ เขตละ 1 จังหวัด ด้วย 5 นวัตกรรมด้านการแพทย์แผนไทยฯ ได้แก่ ยางยืดพิชิตโรค ยืดเหยียดกล้ามเนื้อข้อต่อและเส้นเอ็น, แผงไข่มะกรูด ลดอาการชาเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน, ออกกำลังกายด้วยชักรอก, ผ้าขาวม้าคลายปวด และตาราง 9 ช่อง เคลื่อนไหวร่างกายแบบ 3 มิติ  ซ้าย-ขวา, หน้า-หลัง และ บน-ล่าง 

ด้าน นพ.ศักดา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยการนำนวัตกรรมไปดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ สร้างความเชื่อมั่นและยกระดับนวัตกรรมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น เป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกันอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ แพทย์แผนไทยผู้รับผิดชอบงานด้านผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) และผู้แทนจากชมรมผู้สูงอายุ จำนวนทั้งสิ้น 200 คน