วุฒิสภา ยื่น 5 แนวทาง ป้องกันน้ำป่า-ดินถล่ม หวังแก้ภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

วุฒิสภา ยื่น 5 แนวทาง ป้องกันน้ำป่า-ดินถล่ม หวังแก้ภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ร่วมหารือกับมหาดไทย พร้อมนำเสนอ 5 แนวทางในการป้องกันปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม เพื่อจัดการปัญหาภัยพิบัติให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (25 พ.ย. 67) พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการฯ ดร.จำลอง อนันตสุข เลขานุการคณะกรรมาธิการ นายกิติศักดิ์ หมื่นศรี รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1 นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 2 นายจิระศักดิ์ ชูความดี รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 3 และคณะกรรมาธิการ ได้เข้าพบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นการเกิดภาวะน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ และประเด็นที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย และนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ผช.รมต.ประจำกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษา คณะทำงาน รมว.มหาดไทย และคณะทำงาน รมช.มท. ร่วมประชุมด้วย

วุฒิสภา ยื่น 5 แนวทาง ป้องกันน้ำป่า-ดินถล่ม หวังแก้ภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ นายอนุทินพร้อมคณะ ได้ร่วมประชุมหารือกับ กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยได้รับฟังการนำเสนอผลการศึกษาภาวะน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์สามารถนำไปผลักดันเชิงนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ด้านนายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสิงห์บุรีในฐานะประธานกรรมาธิการ  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า จากที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาพื้นที่การเกิดภาวะน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ก็ได้สรุปข้อมูลผลการศึกษาเบื้องต้น พร้อมได้นำเสนอ 5 แนวทางป้องกันน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ซึ่งได้แก่ การฟื้นฟูป่าไม้เพื่อป้องกันดินถล่ม การจัดการพื้นที่ลาดชันด้วยแนวคันดินและเกเบี้ยน (Gabion boxes) การควบคุมการพัฒนาในพื้นที่เสี่ยงผ่านการปรับปรุงผังเมืองและบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ ชุมชน และองค์กรต่างๆ รวมถึงการวางแผนเชิงลึก เช่น ระบบเตือนภัยและการช่วยเหลือในระยะยาว แนวทางเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากน้ำป่าและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างยั่งยืน
 

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับปัญหานี้และกำลังดำเนินการตามแนวทางที่เสนออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเร่งรัดการทำงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม

"ผลการศึกษาของ กมธ. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นประโยชน์แก่กระทรวงมหาดไทยในการนำไปพัฒนาการดำเนินการบริหารจัดการสาธารณภัย ทั้งมิติป้องกันและแก้ไขฟื้นฟู ซึ่งหากกรณีใดที่มีการละเมิดกฎหมาย ก็ได้สั่งการให้หน่วยที่รับผิดชอบดำเนินการในทันที และร่วมกันวางแผนเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาในระยะยาวและยั่งยืน" นายอนุทิน กล่าวในตอนท้าย