ราชทัณฑ์ แจงยิบปมพักโทษ "บุญทรง" ชี้คุณสมบัติครบเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนด
"กรมราชทัณฑ์" ร่อนเอกสารแจงยิบ! ปม พักโทษปล่อยตัว "บุญทรง" อดีต รมว.พาณิชย์ ชี้คุณสมบัติครบตามเกณฑ์ที่กำหนด
วันที่ 3 ธันวาคม 2567 กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารชี้แจงกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ต้องขังคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี หรือ โครงการจำนำข้าว ได้รับการพักโทษปล่อยตัว ว่า
จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ต้องขังคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี (โครงการจำนำข้าว) ได้รับการพักโทษ จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 นั้น
กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์แจ้งว่า นายบุญทรง อายุ 64 ปี เป็นผู้ต้องขังชั้นเยี่ยม ความผิดฐานพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 48 ปี ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษ 4 ครั้ง ดังนี้
- ครั้งที่ 1 เหลือโทษจำคุก 36 ปี
- ครั้งที่ 2 เหลือโทษจำคุก 24 ปี
- ครั้งที่ 3 เหลือโทษจำคุก 16 ปี
- และครั้งที่ 4 เหลือโทษจำคุก 10 ปี 8 เดือน
นับตั้งแต่ นายบุญทรง รับโทษจำคุก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 จนกระทั่งถึงปัจจุบันวันที่ 2 ธันวาคม 2567 เป็นระยะเวลาจำมาแล้ว 7 ปี 3 เดือน 10 วัน เหลือโทษจำต่อไป 3 ปี 4 เดือน 20 วัน และจะพ้นโทษวันที่ 21 เมษายน 2571
โดยกรณีของ นายบุญทรง มีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ทั่วไปครบตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการพัก การลงโทษ และได้ผ่านการพิจารณาของคณะทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษในชั้นเรือนจำ โดยมีผู้บัญชาการเรือนจำเป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นได้เสนอบัญชีรายชื่อไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษที่ประกอบด้วยหน่วยงานภายนอกหลายหน่วยงาน
ในการนี้ คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า นายบุญทรง มีคุณสมบัติที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ และผ่านการแก้ไขฟื้นฟูตามโปรแกรมต่างๆ ตามที่กรมราชทัณฑ์กำหนด มีความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำน้อย จึงมีมติให้ได้รับการพักการลงโทษ
และในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 นายบุญทรง ได้รับการปล่อยตัวพักการลงโทษ โดยให้ไปรายงานตัวในเขตพื้นที่สำนักงานคุมประพฤติ ตามที่ผู้อุปการะพักอาศัย ซึ่งต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติ รวมถึงติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ตามระยะเวลาที่ได้รับการพักการลงโทษจนกว่าจะพ้นโทษหรือพ้นการคุมประพฤติต่อไป