กยศ. เตือน โพสต์ชวนเบี้ยวจ่ายหนี้ ผิดกฎหมาย ชี้เป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึก
กยศ. เตือน ผู้ไม่ประสงค์ดี โพสต์ชวนเบี้ยวจ่ายหนี้ เป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกและผิดกฎหมาย ย้ำ ผู้กู้ยืม ต้องมีความรับผิดชอบ-ร่วมส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้รุ่นน้อง หากประสบปัญหาทางการเงิน สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ได้
วันที่ 11 ธันวาคม 2567 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงกรณีที่มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ อ้างตัวว่าเป็นผู้กู้ยืมโพสต์รีวิวการบิดหนี้ กยศ. โดยชักชวนผู้กู้ยืมท่านอื่นให้ไม่ชำระหนี้คืน กยศ. ย้ำถึงความสำคัญของเงินกู้ยืมที่มาจากงบประมาณแผ่นดิน และเงินที่ได้รับชำระหนี้จะเป็นการส่งต่อจากผู้กู้ยืมรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง และขอให้ผู้กู้ยืมทุกคนที่เคยได้รับโอกาสจาก กยศ. มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ และร่วมส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้รุ่นน้อง
ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อ้างตัวว่าเป็นผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ได้โพสต์รีวิวการ บิดหนี้ กยศ. โดยชักชวนผู้กู้ยืมท่านอื่นให้ไม่ชำระหนี้คืน ซึ่ง กยศ. ขอชี้แจงว่า กยศ. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินและเงินที่ได้รับชำระหนี้ของผู้กู้ยืมรุ่นพี่กลับมาเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้กู้ยืมรุ่นน้อง
โดย กยศ. มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้ที่ต้องการศึกษาต่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ เพียงร้อยละ 1 ต่อปี มีระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี และมีเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่ยืดหยุ่น ดังนั้น การชำระหนี้จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ผู้กู้ยืมทุกคนควรปฏิบัติเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป
ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวย้ำว่า หากผู้กู้ยืมไม่ชำระเงินคืนตามกำหนดจะทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและเกิดเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงอาจถูกฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายอีกด้วย นอกจากนี้ การชักชวนหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นหลีกเลี่ยงการชำระหนี้หรือโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบและผิดกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนักเรียน นักศึกษารุ่นน้องที่ต้องการความช่วยเหลือจาก กยศ. ได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากผู้กู้ยืมคนใดประสบปัญหาทางการเงินและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ก็สามารถติดต่อกับ กยศ. เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้
สุดท้ายนี้ กยศ. ขอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามข้อตกลงในการกู้ยืมเงินและการชำระหนี้ และขอให้ผู้กู้ยืมทุกคนที่เคยได้รับโอกาสจาก กยศ. มีความรับผิดชอบในการชำระเงินคืน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป