ไทย จับมือมาเลเซียเซ็น MOU การค้ายางพารา สานต่อยุค”นฤมล”เป็นผู้แทนการค้า

ไทย จับมือมาเลเซียเซ็น MOU การค้ายางพารา สานต่อยุค”นฤมล”เป็นผู้แทนการค้า

รัฐบาลไทย จับมือ“มาเลเซีย”ลงนาม MOU พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ายางพารา สานต่อยุค”ศ.ดร.นฤมล”เป็นผู้แทนการค้า ได้ไปเจรจานำร่องมาแล้ว

วันนี้(15 ธ.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 15 - 16 ธ.ค. 2567 ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี นอกจากจะมีวาระเข้าร่วมการประชุมหารือประจำปี แอนนวล คอนซัลเทชัน ครั้งที่ 7 ในวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ที่เมืองปูตราจายา ประเทศมาเลเซีย ตามคำเชิญของดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกฯมาเลเซีย แล้ว ยังมีวาระการลงนามความร่วมมือด้านยางพาราด้วย 

ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้แทนการค้าไทย ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โดยได้เดินทางไปหารือกับ ดาโต๊ะ เสรี โจฮารี อับดุลกานี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์มาเลเซีย และคณะผู้บริหารจาก Ministry of Plantation Industries and Commodities และคณะผู้บริหาร Malaysian Rubber Board โดยได้เจรจาด้านการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อเตรียมความพร้อมในการจับมือลงนามความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพารา และสร้างความเข้มแข็งในฐานะผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกด้านยางพาราของโลก

ทั้งนี้ ไทยและมาเลเซียตกลงร่วมกันที่จะส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือ ดังต่อไปนี้

1.ความร่วมมือในการบริหารจัดการผลผลิตยางพาราเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการในอุตสาหกรรม
ยางพาราของทั้ง 2 ประเทศ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้บริโภค

2.ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนด้านการค้าและอุตสาหกรรมยางพารา โดยมีคุณภาพและมาตรฐาน
ยางพาราเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาวของห่วงโซ่อุปทานระหว่างสองประเทศ รวมไปถึงส่งเสริมและ
สนับสนุนด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพาราในด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และการแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่เกี่ยวข้อง

3.ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวกับยางพาราในด้านการผลิตและอุตสาหกรรม

4.จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ
MOU ฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม MOU ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่าง MRB และ กยท. ข้อกำหนดของ MOU ฉบับนี้อยู่ภายใต้กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่บังคับใช้ในแต่ละประเทศของทั้งสองฝ่ายจะพยายามเสริมสร้าง ส่งเสริม และพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ายางพาราระหว่างทั้งสองฝ่ายโดยยึดหลักความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน

โดยมีวัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือคือการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวกับยาง