จับคู่หู แฮกเพจดัง นับ 100 บัญชี ยึดได้ขายต่อ - ขู่เรียกเงิน ได้นับแสนต่อเดือน
ไม่รอด! ตำรวจไซเบอร์ จับหนุ่มคู่หู แฮกเพจดัง ยึดได้ขายต่อ - ขู่เรียกเงิน ได้นับแสนบาทต่อเดือน ผงะพบมีเพจชื่อดังถูกยึดมาอีกกว่า 100 บัญชี
วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 14.30 น. ณ บริเวณชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ บช.สอท. (เมืองทองธานี) นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร. รรท.ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 และ พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว รวบคู่หูมือแฮกเพจดังภาคใต้ ยึดได้ขายต่อ พร้อมขู่แบล็กเมล เตือนประชาชนระวังภัย
คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ได้มีผู้เสียหาย อายุ 52 ปี มีอาชีพเสริมเป็นเจ้าของค่ายเพลง และเป็นเจ้าของบัญชีแฟนเพจต่างๆ ที่ใช้ในการโปรโมทศิลปินและผลงานเพลงในค่าย โดยได้ทำงานสร้างเนื้อหามากว่า 7 ปี และมีฐานผู้ติดตามหลักล้าน สามารถสร้างรายได้บนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้รับการติดต่อในกล่องข้อความจากบัญชีที่ใช้ชื่อว่า Jeab Prajuk ซึ่งเป็นบัญชีอวตาร และได้แอบอ้างว่า บัญชีเพจต่างๆ ของผู้เสียหาย มีการถูกนำไปขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมกับส่งภาพที่แคปหน้าจอมาให้ดู ผู้เสียหายจึงเข้าใจว่าเพจของตนโดนแฮก จากนั้นคนร้ายจึงได้อาสาแนะนำการตั้งค่าบัญชีแฟนเพจให้ปลอดภัย
ต่อมา คนร้ายได้บอกให้ผู้เสียหายทำตามขั้นตอนที่แนะนำ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวที่คนร้ายให้ทำนั้น เป็นการตั้งค่าให้สิทธิ์คนร้ายเข้าถึงและควบคุมเพจของผู้เสียหายได้โดยไม่รู้ตัว และระหว่างการปรับตั้งค่าเพจ คนร้ายได้วิดีโอคอลตลอดเวลา เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ โดยคนร้ายใช้เป็นกล้องหลังเพื่อปิดบังใบหน้า แต่คนร้ายเผลอเปิดกล้องหน้าประมาณ 1 ครั้ง ทำให้ผู้เสียหายจดจำรูปพรรณสัณฐานได้ ภายหลังผู้เสียหายเพิ่งพบว่าไม่สามารถเข้าถึงเพจของตนเองได้ จึงได้ลองติดต่อคนร้ายเพื่อขอเพจคืน กลุ่มคนร้ายก็แจ้งว่ายินยอมจะคืนเพจให้ แต่ได้เรียกร้องเงินจำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับการคืนเพจดังกล่าว ผู้เสียหายจึงโอนเงินไปให้ส่วนหนึ่ง และเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.สิชล ในเวลาต่อมา
ต่อมาได้มีการโอนสำนวนคดีดังกล่าวมายัง กก.3 บก.สอท.5 รับผิดชอบ ตามคำสั่ง ตร. ที่ 182/2566 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2566 เรื่องการรับแจ้งความและการบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดย ตำรวจไซเบอร์ พบข้อมูลว่า เพจของผู้เสียหายได้ถูกเปลี่ยนชื่อและถูกนำไปใช้ลงโฆษณาแปะลิงก์เว็บพนันออนไลน์ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถขออำนาจศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการได้ จำนวน 2 ราย
กระทั่งวันที่ 17 ธันวาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.สอท.5 ได้นำกำลังเข้าจับกุมตัว นายกฤต (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ จ.653/2567 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2567 โดยควบคุมตัวได้ที่บ้านพักใน อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
และจับกุม นายคุณัชญ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ จ.645/2567 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2567 โดยควบคุมตัวได้ที่บ้านพักใน อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี พร้อมของกลางเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 3 รายการ และโทรศัพท์มือถือที่ใช้สั่งการและทำธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 1 เครื่อง
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงดำเนินคดีในความผิดฐาน "ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง, เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สําหรับตน, ร่วมกันทําให้เสียหาย ทําลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ, กระทําด้วยประการใดๆ โดยมิชอบ เพื่อให้การทํางานของระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ หรือรบกวนจนไม่สามารถทํางานได้ตามปกติ และเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่น"
จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสองรายให้การว่า ได้ใช้บัญชีโซเชียลอวตารที่ นายคุนัชญ์ ได้สร้างขึ้นมา ทักเข้าไปหาเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก โดยมี นายกฤต ผู้ต้องหาอีกรายทำหน้าที่คัดเลือกเหยื่อและส่งช่องทางการแฮกให้ผู้ต้องหา แล้วหลอกผู้เสียหายให้ตั้งค่าให้ตนได้สิทธิ์เป็นแอดมินเพจ เมื่อยึดเพจได้ก็จะตัดสิทธิ์เจ้าของเพจเดิมออก เมื่อยึดเพจได้แล้ว นายกฤตก็จะโอนเงินค่าตอบแทนให้นายคุณัชญ์ โดยคิดอัตราค่าตอบแทนตามยอดผู้ติดตามของเพจนั้น ในราคา 3,000 บาทต่อ 1 แสนผู้ติดตาม แต่สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
โดยคนร้ายทั้ง 2 ราย ได้รู้จักกันผ่านการเล่นเกมส์ออนไลน์ และมีความสนิทกันมาประมาณ 2-3 ปี โดยใช้การติดต่อสื่อสารทางแอปฯ Telegram เป็นหลัก เพื่อพูดคุยงานและการส่งลิงก์บัญชีธุรกิจ (กรณีให้ลูกค้าทำตามขั้นตอนที่คนร้ายแนะนำ) เมื่อยึดเพจมาได้แล้ว จะนำไปลงประกาศขายต่อในกลุ่มปิด หรือในกลุ่มตลาดมืดที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น การพนันออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น ซึ่งสามารถทำรายได้จากการกระทำดังกล่าวนับแสนบาทต่อเดือน โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาสามารถทำรายได้ไปแล้วไม่ต่ำกว่าล้านบาท
จากการตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของ นายกฤต 1 ในผู้ต้องหา พบว่ามีเพจชื่อดังจำนวนกว่า 100 บัญชี ที่ถูกยึดมาโดยวิธีการดังกล่าว และนำไปซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนในตลาดมืดอีกทอดหนึ่ง
ทั้งนี้ หากเจ้าของเพจท่านใดมีข้อกังวลหรือสงสัยว่า บัญชีโซเชียลหรือเพจของตนอาจเคยโดนคนร้ายกลุ่มนี้หลอกลวงมาก่อน สามารถรายงานขอความช่วยเหลือได้ที่ https://www.facebook.com/hacked และสอบถามได้ที่ บก.สอท.5 ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-412-5613 โดยทางตำรวจไซเบอร์ และ Meta Platforms Inc. มีการทำงานบูรณาการความร่วมมือกันในการดูแลชุมชนออนไลน์ให้ปลอดภัยอย่างใกล้ชิด