10 วันอันตราย ปีใหม่ 2568 ยอดสะสม 6 วัน เกิดอุบัติเหตุ 1,739 ครั้ง ดับพุ่ง 272 ราย

อัปเดต 10 วันอันตราย ปีใหม่ 2568 ยอดสะสม 6 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 1,739 ครั้ง บาดเจ็บ 1,694 คน เสียชีวิต 272 ราย ศปถ. เข้มบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด กวดขันพฤติกรรมเสี่ยง ขับรถเร็ว - ดื่มแล้วขับ - ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย
อัปเดต 10 วันอันตราย "ปีใหม่ 2568" ล่าสุดวันนี้ (2 ม.ค.68) ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ได้กำชับทุกจังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน เข้มข้นการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด บนถนนสายหลักเพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงทั้งขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมใส่หมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ และรถขนส่งสินค้า เตรียมรถบริการรับ-ส่งประชาชนให้เพียงพอกับความต้องการ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่พี่น้องประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนเดินทางถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดทำงานหลังจากเทศกาลปีใหม่ 2568 ซึ่งประชาชนบางส่วนได้เดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานคร และจังหวัดเขตเศรษฐกิจในภาคต่างๆ แล้วขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังอยู่ในระหว่างการเดินทางกลับ ทำให้เส้นทางสายหลัก เส้นทางสายรอง รวมไปถึงถนนในชุมชนหมู่บ้าน ยังคงมีปริมาณรถหนาแน่น และเมื่อคืนที่ผ่านมาหลังการเฉลิมฉลองปีใหม่ประชาชนบางส่วนได้เดินทางกลับทันที ทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะเกิดความเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ จึงทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้น จึงได้ประสานทุกจังหวัดให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยให้เข้มข้นการตั้งด่านตรวจจุดตรวจ จุดสกัด บนถนนสายหลักเป็นระยะๆ ตลอดเส้นทาง เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ การไม่สวมหมวกนิรภัย และการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย โดยหากพบผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว
ด้าน นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า สำหรับประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ได้เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร และจังหวัดเขตเศรษฐกิจนั้น คาดว่าประชาชนกลุ่มนี้จะยังอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องไปจนถึงวันเสาร์และวันอาทิตย์ และอาจเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพร และเสริมสิริมงคลรับปีใหม่ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนำแนวทางการขับขี่ปลอดภัย แนวทางการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนน ไปติดตั้งประชาสัมพันธ์ตามศาสนสถานต่างๆ เพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมเรื่องการขับขี่ปลอดภัยและสร้างการตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนให้แก่ประชาชน ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ ลดจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 มกราคม 2568 เกิดอุบัติเหตุ 339 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 346 คน ผู้เสียชีวิต 50 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 38.94 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 31.56 ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 16.81 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.42 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 81.12 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.71 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.09 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 00.01 - 01.00 น. เวลา 01.01 - 02.00 น. และเวลา 18.01 - 19.00 น.
ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 24.49 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,774 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,744 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (24 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (36 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (7 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 1 มกราคม 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,739 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,694 คน ผู้เสียชีวิต รวม 272 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 8 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (63 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (73 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 12 ราย)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์