ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมแนะวิธีเลือกหน้ากากอนามัยให้เหมาะสม

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5 เผย สถานการณ์ฝุ่นในทุกจังหวัดดีขึ้น แต่คาดการณ์อีก 3 วัน จะกลับมาเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ขณะนี้เปิดศูนย์ PHEOC แล้ว 20 จังหวัด ส่วนหน้ากากอนามัยประสิทธิภาพการกรองฝุ่นต่างกัน พร้อมแนะวิธีเลือกให้เหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
วันนี้ (27 ม.ค. 68) ที่ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5 กระทรวงสาธารณสุข ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด้านแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมด้วย พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค แถลงแนวทางการดูแลสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5
โดย ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ วันนี้ สถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้น ค่าฝุ่น PM2.5 ลดลงทุกพื้นที่ เหลือระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป) เพียงจังหวัดเดียว คือ สุโขทัย และอีก 37 จังหวัด อยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6 - 75 มคก./ลบ.ม) โดยมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว 20 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 31 มกราคม 2568 ค่าฝุ่นจะกลับมาเพิ่มขึ้นในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอีกครั้ง ทั้งในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบค่าฝุ่นทุกวันและปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
ด้าน พญ.จุไร กล่าวว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 สูง ได้แก่ เด็กเล็ก ซึ่งมีอัตราการหายใจสูงกว่าผู้ใหญ่, หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลต่อทารกในครรภ์และทำให้คลอดก่อนกำหนด, ผู้สูงอายุ ซึ่งระบบหายใจมีความเสื่อมตามวัย, ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง อาทิ ตำรวจจราจร พนักงานกวาดถนน/เก็บขยะ พ่อค้าแม่ค้าริมทาง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนงานก่อสร้าง ซึ่งมีโอกาสสัมผัสฝุ่นเวลานาน และผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอด โรคหืด โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว 4 กลุ่มโรค คือ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน อาจเกิดอาการกำเริบได้ จึงควรดูแลตนเองเป็นพิเศษ
พญ.จุไร กล่าวต่อว่า หน้ากากแต่ละประเภทจะมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5 ต่างกัน จึงต้องเลือกหน้ากากให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มและสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5
- หน้ากาก N95 ทั้งแบบมีวาล์ว และไม่มีวาล์ว สามารถกรองฝุ่นได้ 95% สามารถใช้ได้ทุกกลุ่ม
- หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 (กรณีแนบสนิทใบหน้า) กรองฝุ่นได้ 50-70% สามารถใช้ได้ทุกกลุ่ม
- หน้ากากผ้าฝ้าย 3 ชั้น กรองฝุ่นได้ประมาณ 40%
- หน้ากากผ้ามัสลิน กรองได้ประมาณ 37% ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีการสำรองหน้ากากอนามัย ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง (Surgical Mask) 7.3 ล้านชิ้น อัตราการใช้ 3.3 ล้านชิ้น/เดือน มีกำลังการผลิต 10 ล้านชิ้น/เดือน และหน้ากากกรองอากาศ ชนิด N95 จำนวน 6 แสนชิ้น อัตราการใช้ 1.7 แสนชิ้น/เดือน มีกำลังการผลิต 2.4 แสนชิ้น/เดือน ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้อย่างน้อย 2 เดือน
พื้นที่สีส้ม จะแจกให้กับผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงสูง ส่วนพื้นที่สีแดง แจกให้กับกลุ่มเสี่ยงที่เปราะบางและประชาชนผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ดังกล่าวสามารถขอรับหน้ากากอนามัยได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2568 เป็นต้นไป