เปิด 11 มาตรการ แก้ฝุ่น PM 2.5 เผย สาเหตุ กทม. อากาศดีขึ้น

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ติดตามสถานการณ์ฝุ่นวันเริ่มสัปดาห์ ลมแรงพัด PM2.5 เบาลงตามคาดการณ์ โรงเรียนสังกัด กทม. เปิดเรียนตามปกติ พร้อมเปิด 11 มาตรการ แก้ฝุ่น PM 2.5
วันนี้ (27 ม.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในวันเช้าวันจันทร์เริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ ณ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม เขตดินแดง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เช้านี้ลมพัดแรง ไม่มีหมอกเหมือนเมื่อวาน สาเหตุจากลมเปลี่ยนทิศ เป็นลมจากทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลมแห้งที่ไม่ได้เอาไอน้ำเข้ามาแต่พาฝุ่นมาด้วย แต่ด้วยความแรงของลมก็พาฝุ่นที่สะสมใน กทม. ออกไปด้วยเช่นกัน ทำให้สถานการณ์ฝุ่นใน กทม. ดีขึ้น ไม่มีสีแดง เป็นสีเหลืองและส้ม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่สัปดาห์ก่อน สำหรับ โรงเรียนสังกัด กทม. เปิดเรียนทั้งหมด 437 โรงเรียน แต่ยังคงเฝ้าระวังตลอด โดยแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นจากนี้ ด้านการระบายอากาศ 2 วันนี้ยังคงดีอยู่ แต่จะแย่อีกครั้ง 29 -30 ม.ค. 68 ด้านจุดเผา ประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกยังคงมีการเผาเยอะอยู่ ต้องเฝ้าระวังหากทิศทางลมพัดฝุ่นมาทาง กทม.
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า หากประชาชนต้องการตรวจสอบคุณภาพอากาศด้วยด้วยผ่านทางแอปพลิเคชัน Air BKK หน้าหลักจะแสดงค่าเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 แต่หากจะดูค่าฝุ่นรายชั่วโมงก็สามารถเปิดดูได้ เหตุผลที่แสดงค่าเฉลี่ย 24 ชม. เป็นหลัก เพราะค่าฝุ่นจะเหวี่ยงขึ้นลงไม่นิ่ง การใช้ค่าเฉลี่ยนจะกำหนดมาตรฐานในการรายงานได้ดีกว่า
สำหรับการตรวจควันดำรถ วันนี้เจ้าหน้าที่ก็จะลงตรวจรถเมล์อีกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ที่ผ่านมาตรวจ 6 วันต่อสัปดาห์ตลอดทั้งปีไม่เคยหย่อน แต่ถึงแม้ตรวจพบควันดำเราทำได้แค่เพียงขอความร่วมมือ หากจะดำเนินการตามกฎหมายต้องนำเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกไปด้วย ซึ่งต้องชี้แจงอีกครั้งว่า กทม. ไม่มีอำนาจจับรถ 6 ล้อขึ้นไป มีอำนาจแค่รถ 4 ล้อ ทั้งยังไม่สามารถสั่งหยุดรถได้ ทำได้เพียงติดสติกเกอร์และให้แก้ไขภายใน 30 วัน เป็นข้อจำกัดทางกฎหมายที่เราพยายามขออำนาจตรงนี้
11 มาตรการฝุ่นของ กรุงเทพมหานคร มีอะไรบ้าง
1. Low Emission Zone (LEZ) เขตมลพิษต่ำ ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่เมืองชั้นใน
จำกัดโซนการวิ่งของรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่ไม่ขึ้นทะเบียนสีเขียว ในช่วงที่ฝุ่นวิกฤต โดยห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่ไม่ขึ้นทะเบียนสีเขียว เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก รวมพื้นที่ 9 เขต และแนวถนนผ่าน 13 เขต รถคันไหนที่ไม่ลงทะเบียน หากขับเข้ามาในพื้นที่เข้ามาจะโดนปรับ โดย กทม. วางแผนกว่าครึ่งปี ใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ควบคุมรถเข้าพื้นที่ ซึ่งในไทยไม่เคยมีใครทำมาก่อน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน (27 ม.ค. 68) มีรถขึ้นทะเบียนบัญชีสีเขียวกว่า 38,000 คัน
2. โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น
โครงการนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมลดฝุ่นได้ ซึ่งจากการวิจัยพบว่าการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/ไส้กรอง สามารถลดฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 55% กทม. จึงชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี โดยปี 2568 มีรถเข้าร่วมโครงการ 260,752 คัน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 500,000 คัน
3. ห้องเรียนปลอดฝุ่น โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร
เปิดห้องเรียนปลอดฝุ่น และ ห้อง safe zone โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้เด็กนักเรียน เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 โดยปี 67 ดำเนินการปรับปรุงทุกโรงเรียนให้มีห้อง safe zone เป็นห้องใหญ่ที่ติดแอร์และเครื่องกรองอากาศ ส่วนห้องเรียนปลอดฝุ่นสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล โรงเรียน กทม. จากทั้งหมด 437 โรงเรียน มีชั้นอนุบาล 429 โรงเรียน มีห้องเรียนอนุบาล 1,966 ห้อง ปรับปรุงเสร็จแล้ว 744 ห้อง และทำให้เสร็จทั้งหมดภายในปีนี้
4. เครือข่าย Work From Home (WFH)
เป็นมาตรการที่ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ร่วม WFH เพื่อลดการเดินทาง ลดการเกิดฝุ่นจากภาคการจราจร ปัจจุบันมีหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย WFH กับ กทม. ประมาณเกือบ 100,000 คน จากประมาณ 155 บริษัท เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ภาคเอกชนประชาชนมีส่วนร่วมได้เพื่อลดปัญหาฝุ่น การจราจรและดูแลสุขภาพตัวเอง โดยยังสามารถลงทะเบียนร่วมเป็นแครือข่าย WFH ได้ที่ลิงค์ https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr
5. รถอัดฟางให้ยืมฟรี
กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทำการเกษตรนับหมื่นไร่ จึงมีโครงการสนับสนุนเครื่องอัดฟางให้เกษตรกรยืมใช้ฟรี เพื่อลดการเผาวัสดุทางการเกษตรและช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเกษตรกรจองแล้ว 2,000 – 3,000 ไร่ จากเขตหนองจอกและคลองสามวา
6. สนับสนุนทีมฝนหลวงช่วยลดฝุ่นพื้นที่กรุงเทพฯ
กทม. ได้หารือกับทีมฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินการเกษตร ตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อช่วยปฏิบัติการลดฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งการสเปรย์น้ำปรับลดอุณหภูมิ และการโปรยน้ำแข็งแห้ง ซึ่ง กทม. พร้อมให้การสนับสนุนทีมฝนหลวง ทั้งเรื่องการรับบริจาคน้ำแข็งแห้ง และประสานเรื่องพื้นที่การบินในกรุงเทพฯ
7. เปิดช่องทางร้องเรียน Traffy Fondue แจ้งการเตือนฝุ่น
เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมลดฝุ่น และเพื่อการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วขึ้น กทม. ได้เปิดช่องทางร้องเรียนและแจ้งเตือนฝุ่น ทั้งทาง Traffy Fondue ที่มีเมนูสำหรับให้แจ้งเรื่องฝุ่น เรื่องรถควันดำโดยเฉพาะ พร้อมทั้งมี Line Alert ที่แจ้งเตือนเมื่อมีวิกฤต ให้ประชนรับรู้ทันท่วงที
8. การพยากรณ์ฝุ่น
ตั้งศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร แจ้งเตือนประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน Air BKK ปัจจุบัน กทม. สามารถพยากรณ์ฝุ่นได้แม่นยำมากขึ้น มีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน Air BKK ที่พัฒนามาหลายเวอร์ชัน สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าหลายวัน เพราะเซ็นเซอร์ที่ใช้ในแอปมีคุณภาพมาตรฐานสูงกว่าทั่วไป
9. การตรวจฝุ่นที่ต้นตอ
กทม. ตรวจฝุ่นจากต้นตอมาโดยตลอดนับตั้งแต่ ตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ตรวจช่วงที่ฝุ่นเยอะ เช่น โรงงาน 236 แห่ง เราตรวจแล้วกว่า 14,600 ครั้ง แพนท์ปูน 105 แห่ง ตรวจแล้วกว่า 2,400 ครั้ง สั่งปิด 17 แห่ง เป็นต้น เรามีแผนในการตรวจตลอดแต่ที่ผ่านมาอาจไม่ได้ประกาศให้ประชาชนรู้ และสำหรับมาตรการในการตรวจ ก่อนหน้านี้กฏควบคุมไซต์ก่อสร้างไม่ได้พูดเรื่อง PM2.5 หลังจากทีมผู้ว่าฯ ชัชชาติเข้ามาทำงาน ได้เพิ่มเรื่อง PM2.5 ในการก่อสร้างอาคาร รวมถึงกฏเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ก็จะสั่งปิดไซต์งานได้
10. การปรับปรุงการจราจร
กทม. พยายามสนับสนุนให้ใช้การเดินทางที่ไม่สร้างมลพิษ ทั้งใช้จักรยาน Bike Sharing ทำทางเท้าให้ดี เป้าระยะทาง 1,000 กิโลเมตร ดำเนินการไปแล้ว 800 กิโลเมตร รวมถึงการจราจรบนถนนที่ใช้ระบบ AI มาช่วยควบคุมมากขึ้น หากการจราจรดีขึ้นก็มีส่วนช่วยให้การสะสมของฝุ่นน้อยลง
11. ปลูกต้นไม้ล้านต้น และสวน 15 นาที ทั่วกรุง
เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ ภายใต้นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น และสวน 15 นาที ทั่วกรุง เป็นนโยบายที่เริ่มทำตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง ตอนนี้ปลูกไปแล้วกว่า 1 ล้าน 2 แสนต้น และขยายเป้าเป็น 2 ล้านต้น เป็นโครงการที่ไม่เห็นผลในวันนี้ แต่อนาคตจะเป็นร่มเงาและคอยดักฝุ่นให้เมืองกรุง