เปิด 8 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง ปี 67/68 ป้องกันเสี่ยงขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ
![เปิด 8 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง ปี 67/68 ป้องกันเสี่ยงขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2025/01/EVL52dRrctqp1YgWx09O.webp?x-image-process=style/LG)
สทนช. รายงาน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งป้องกันและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำครอบคลุมทั่วประเทศ
วันนี้ (29 ม.ค. 68) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ได้รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตาม 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบ วานนี้ (28 มกราคม 2568) โดยมาตรการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 และได้มอบหมายให้ สทนช. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง
เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งในด้านน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้า โดย สทนช. ได้ดำเนินการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการดำเนินงานตาม 8 มาตรการ มีดังนี้
- มาตรการที่ 1 คาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ มีการคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและปรับปรุงข้อมูลทุกเดือนเพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เตรียมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง และเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ 238 เครื่อง รวมถึงเครื่องจักรสนับสนุนอื่น ๆ 15 ชุด คิดเป็นปริมาณน้ำที่สูบช่วยเหลือแล้ว 32.27 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) และขนส่งน้ำช่วยเหลือ 5.45 ล้าน ลบ.ม.
- มาตรการที่ 2 สร้างความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรพร้อมปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอสำนักงบประมาณพิจารณา และมีแผนเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น 300 แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก พร้อมทั้งมีแผนตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 7 หน่วย และอากาศยานปฏิบัติการ จำนวน 32 ลำ โดยมีพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ
- มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ได้กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่ชัดเจน โดยปัจจุบันจัดสรรน้ำแล้ว 8,220 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 38% ของแผน และเพาะปลูกพืชแล้ว 11.38 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 74% ของแผน และมีแผนจัดสรรน้ำสำหรับเตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี) 11 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งบางระกำ และ 10 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง ในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2568 จำนวน 462 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้เก็บเกี่ยวทันฤดูน้ำหลาก ปี 2568
- มาตรการที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน ได้จัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ในพื้นที่ 3.65 ล้านไร่ จัดกิจกรรมให้ความรู้ในด้านการบริหารจัดการน้ำในเขตชลประทานให้กับประชาชน 259,758 ราย และประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ การประหยัดน้ำในภาครัฐ การใช้ระบบ 3R ในภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ลดการใช้น้ำ (Reduce) นำน้ำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำน้ำมาใช้หมุนเวียน (Recycle) พร้อมวางแผนลดการสูญเสียในระบบท่อ
- มาตรการที่ 5 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ มีการเฝ้าระวังและตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องในแม่น้ำสายหลักใน 22 ลุ่มน้ำ แม่น้ำสายรอง แหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำ รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำและคลอง 89 แห่ง ริมชายฝั่งครอบคลุมพื้นที่ 21 จังหวัดที่มีการทำประมง ซึ่งปัจจุบันพบว่าคุณภาพน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ ยังได้เฝ้าระวัง ตรวจวัดและควบคุมคุณภาพน้ำในทุกพื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งของภาคอุตสาหกรรม พร้อมเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการรองรับหากเกิดปัญหาด้านคุณภาพน้ำ โดยผลการติดตามในปัจจุบันพบว่าคุณภาพน้ำโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์คุณภาพดี
- มาตรการที่ 6 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชนและองค์กรผู้ใช้น้ำ มีการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2567/2568 พร้อมทั้งรับฟังปัญหาและร่วมกันแก้ไขกับเกษตรกร รวมพื้นที่ 1.59 ล้านไร่ 14,189 ครัวเรือน รวมถึงดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน 5 ชุมชน พื้นที่รับประโยชน์ 618 ไร่ 1,147 ครัวเรือน
- มาตรการที่ 7 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือ ผ่านช่องทางต่าง ๆ
- มาตรการที่ 8 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานและการให้ความช่วยเหลือ โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 จนถึงปัจจุบัน สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่บูรณาการหน่วยงานเชิงรุกตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่ที่มีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร จำนวน 17 จังหวัด 31 อำเภอ 57 ตำบล พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ได้แก่ กำหนดให้มีการสำรวจศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูระบบประปาหมู่บ้านเดิม ด้วยการทำความสะอาดและเป่าล้างบ่อบาดาล ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อให้การช่วยเหลือสามารถดำเนินการได้ทันทีหากท้องถิ่นขอรับการสนับสนุน
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานเร่งเตรียมความพร้อมโครงการต่าง ๆ เพื่อขอรับงบประมาณผ่านระบบ Thai Water Plan (TWP) ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ให้มีการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำในพื้นที่ ปรับปรุงระบบกรองน้ำ รวมถึงการก่อสร้างระบบประปาใหม่ และสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อนำมาพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต
ทั้งนี้ สทนช. ยังคงเดินหน้าลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่มีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ในจังหวัดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้งต่อไป