จากการเปลี่ยนทางเท้าเป็นทุน ถึงการสร้างนางแบบ

จากการเปลี่ยนทางเท้าเป็นทุน ถึงการสร้างนางแบบ

การมาให้คำปรึกษาแก่นายกรัฐมนตรีไทยของนางแบบผู้เคยโด่งดังทะลุฟ้า “นาโอมิ แคมป์เบลล์” ดูจะกระตุ้นความสนใจอย่างกว้างขวาง

การจ้างนางแบบชั้นนำซึ่งธรรมดามีค่าตัวสูงมากมาเป็นที่ปรึกษาด้านการค้นหาเยาวชนสตรีรูปร่างหน้าตาดีมาปลุกปั้นให้เป็นนางแบบครั้งนี้ มีความคล้ายกับการเชิญนาย “เฮอร์นันโด ดี โซโต” นักเศรษฐศาสตร์เปรูผู้เขียนหนังสือชื่อ “ความลี้ลับของทุน” (The Mystery of Capital) มาให้คำปรึกษาด้วยค่าจ้างแสนสูง  

หนังสือเล่มนั้นพูดถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการแสวงหาทรัพย์สินมาค้ำประกันการกู้เงินจากธนาคารมาใช้เป็นทุนทำธุรกิจ  นอกจากหลักฐานจำพวกการถือครอง หรือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งมักรับรู้กันโดยทั่วไปในสังคมไทยแล้ว ยังมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งอื่นอีกมากมายซึ่งอาจไม่เป็นที่ประจักษ์แต่ใช้ค้ำประกันได้เช่นเดียวกัน 

เนื่องจากเมืองไทยมีผู้ละเมิดกฎหมายใช้ทางเท้าวางของขาย หรือจับจองเป็นของตนเองอย่างแพร่หลาย จึงมีการพูดถึงการนำกรรมสิทธิ์ในทางเท้านั้นมาใช้ประกันเงินกู้  นั่นคือที่มาของวลีแปลกใหม่ “เปลี่ยนทางเท้าเป็นทุน”    

อย่างไรก็ดี ดูจะไม่มีคนไทยกี่คนที่สนใจทำความเข้าใจหนังสือเล่มนั้นอย่างจริงจังรวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีในยุคนั้นซึ่งมักแนะนำหนังสือให้คนไทยอ่านโดยเฉพาะก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี 

ในฐานะผู้เคยอ่านและมองเห็นความบกพร่องของหนังสือมาก่อน ผมจึงเสนอบทวิพากษ์ไว้ในหนังสือชื่อ “คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์” ซึ่งตีพิมพ์หลายครั้งเมื่อปี 2547 (บทคัดย่อภาษาไทยของ The Myster of Capital ยังดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา )

การชี้ให้เห็นความบกพร่องของหนังสือและความมักง่ายซึ่งนำไปสู่การขายฝันของรัฐบาลคงทำให้คณะทำงานของรัฐบาลไม่พอใจถึงขั้นสั่งให้ร้านค้าหยุดจำหน่ายหนังสือเล่มต่อมาของผมชื่อ “สู่จุดจบ !” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อต้นปี 2549 (ดาวน์โหลดได้ฟรีจากเว็บไซต์ดังกล่าวและฟังเสียงอ่านของคุณ “สมลักษณ์ หุตานุวัตร” ได้จาก YouTube) 

ณ วันนี้คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าข้อเสนอของนายดี โซโต ไม่อาจนำมาใช้ได้ ทั้งนี้เพราะถ้ามันใช้ได้จริงดังรัฐบาลขายฝันไว้ เมืองไทยคงไม่มีความขาดแคลนแสนสาหัสเหลืออยู่จนรัฐบาลชุดปัจจุบันต้องเน้นการแจกเงินอันเป็นการตอกย้ำการทำตามนโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับด้านการคิดจะปลุกปั้นเยาวชนสตรีไทยให้เป็นนางแบบนั้นมีข้อน่าพิจารณามากมาย  แต่ ณ วันนี้ ผมไม่มีความมั่นใจว่ารัฐบาลโดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีมีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของกิจการนางแบบมากน้อยเพียงไร 

อาจไม่ทราบกันว่า นางแบบส่วนใหญ่ไม่มีผู้จ้างอย่างต่อเนื่องและอาจตกงานเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ  พวกเขาจำเป็นต้องหารายได้จากทางอื่นมาจุนเจืออย่างต่อเนื่อง 

ในอเมริกา สภาวะของผู้หวังจะเป็นนางแบบคล้ายกับของผู้หวังจะเป็นนักแสดง หรือดาราในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กล่าวคือ พวกเขามักต้องทำงานจำพวกที่ไม่ต้องใช้การฝึกฝนมากนัก เช่น การเป็นพนักงานช่วยทำและเสิร์ฟอาหารในภัตตาคาร หรือในร้านอาหารจานด่วน  

สำหรับในเมืองไทย ผู้ชูนโยบายขายฝันและเยาวชนสตรีที่หวังจะเป็นนางแบบคงไม่ตระหนักว่าพวกเขาจะมีค่าใช้จ่ายสูงเพื่อคงสภาพร่างกายให้อยู่ในกรอบความต้องการของผู้จ้างและน้อยคนที่จะมีรายได้ในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ 

เมื่อรายได้ไม่พอจ่าย เยาวชนสตรีไทยจะทำอะไร?  เมืองไทยมีกิจการที่ไม่ต้องฝึกฝนมากนักอยู่มากรวมทั้งร้านอาหารและสถานที่อาบอบนวดซึ่งมักมีการขายบริการทางเพศแฝงอยู่ด้วย  เยาวชนสตรีไทยจะเลือกขายตัวเป็นการชั่วคราวหรือไม่และมันจะนำไปสู่อะไรเป็นประเด็นน่าใส่ใจยิ่ง  

จากปี 2544 เป็นต้นมา รัฐบาลใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายและขายฝันชนิดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง  นโยบายเหล่านั้นมักมีการผลาญงบประมาณแฝงอยู่  ล่าสุดได้แก่โครงการค้นหาและขายเอกลักษณ์ของชาติไทยในกรอบของ “ซอฟต์พาวเวอร์” ซึ่งรวมการปลุกปั้นนางแบบด้วย 

โครงการนี้ดูจะทำงบประมาณนับพันล้านบาทให้หายไปได้ภายในพริบตาโดยไม่ได้อะไรกลับคืนมาอย่างเป็นรูปธรรม  จึงขออ้อนวอนรัฐบาลว่า อย่าใช้นโยบายมักง่ายและขายฝันต่อไปอีกเลย.