สธ. พร้อมรับมือ ไข้หวัดใหญ่ แนะ 7 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนลดความรุนแรง

รัฐบาล โดย สธ. พร้อมรับมือ ไข้หวัดใหญ่ เตือนประชาชนดูแลสุขภาพ แนะ 7 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนลดความรุนแรงของโรค
วันนี้ (26 ก.พ. 68) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลห่วงใยสุขภาพของประชาชน จากสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลแนวโน้มผู้ป่วยรายสัปดาห์ในปี พ.ศ.2568 พบว่าสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2567) ของช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 1.6 เท่า ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 24 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 131,826 คน เสียชีวิต 12 คน สำหรับกลุ่มอายุที่พบป่วยไข้หวัดใหญ่มากสุดคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาเป็นกลุ่ม อายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี
สำหรับ ภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคเหนือ (258.44) รองลงมา คือ ภาคกลาง (222.48) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (175.88) และภาคใต้ (138.85) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 10 จังหวัดแรก ได้แก่ พะเยา (638.55) ลำพูน (591.61) เชียงราย (469.88) ภูเก็ต (456.36) เชียงใหม่ (443.04) ลำปาง (374.70) น่าน (341.83) กรุงเทพมหานคร (331.85) อุบลราชธานี (301.93) และนนทบุรี (290.59)
“รัฐบาลขอย้ำให้ประชาชน หมั่นดูแลสุขภาพ อนามัยส่วนบุคคล หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรพักรักษาตัวอยู่บ้าน จนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง ควรพบแพทย์โดยเร็ว และฉีดวัคซีนหากพบว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นางสาวศศิกานต์ ระบุ
ส่วนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อลดอาการรุนแรงจากโรค เน้นในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี
- ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
- ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน
- หญิงตั้งครรภ์ ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422