กรุงเทพธุรกิจ คว้ารางวัลดีเด่น ข่าว 'มหากาพย์ เขากระโดง ทวงคืนสมบัติแผ่นดิน'

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ยกย่อง กรุงเทพธุรกิจ คว้ารางวัลดีเด่น ข่าว 'มหากาพย์ เขากระโดง ทวงคืนสมบัติแผ่นดิน'
มูลนิธิอิศรา อมันตกุล และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดการประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวยอดเยี่ยมจากสื่อหนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ และประเภทภาพข่าวยอดเยี่ยมจากสื่อหนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้จัดการประกวดรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประจำปี 2567 พิธีประกาศผล และมอบรางวัลผลการประกวด จัดขึ้นในวันอังคารที่ 4 มีนาคม 2568 เวลา 17.30 น. ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก
โดยมี นางสาว น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานมูลนิธิอิศรา อมันตกุล เป็นผู้มอบโล่ และเงินรางวัลอิศรา อมันตกุล
ส่วนรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีนายภานุมาศ สงวนวงษ์ ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มอบโล่ และเงินรางวัลอิศรา อมันตกุล
รางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวยอดเยี่ยมจากสื่อหนังสือพิมพ์ ประจำปี 2567
มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน 5 ข่าว จากหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ผลงานข่าวเข้ารอบสุดท้ายมีจำนวน 5 ข่าว ได้แก่
1.ข่าว 8 โครงการฉาวน้ำดำ ตราบาป 7 ชั่วโคตร ผลาญเงินภาษี ลุ้นให้จบ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)
2.ข่าวปริศนา 'ปลาหมอคางดำ' เอเลียนสปีชีส์ ปัญหาที่ยังไม่จบ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)
3.ข่าวหมกเม็ดจ้าง อาจารย์พิเศษ รร.นตร. (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
4.ข่าวมหากาพย์ ปลาหมอคางดำ อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
5.ข่าวมหากาพย์ เขากระโดง ทวงคืนสมบัติแผ่นดิน (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)
ผลการตัดสินรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวยอดเยี่ยมจากสื่อหนังสือพิมพ์ ประจำปี 2567 ไม่มีผลงานข่าวใดได้รับรางวัลยอดเยี่ยม
แต่มีรางวัลดีเด่น 1 รางวัลได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้รับโล่พร้อมเงินรางวัลๆ ละ 20,000 บาท ได้แก่
รางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวยอดเยี่ยมจากสื่อหนังสือพิมพ์ รางวัลดีเด่น ได้แก่ ผลงานข่าวมหากาพย์ เขากระโดง ทวงคืนสมบัติแผ่นดิน (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)
รางวัลชมเชย ได้แก่ ผลงานข่าวปริศนา 'ปลาหมอคางดำ' เอเลียนสปีชีส์ ปัญหาที่ยังไม่จบ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์) และ ผลงานข่าวมหากาพย์ ปลาหมอคางดำ อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
ที่มาข่าว มหากาพย์ ‘เขากระโดง’ ทวงคืนสมบัติแผ่นดิน
ที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ ในพื้นที่ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ กลายเป็น “มหากาพย์” ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 102 ปี
ข้ามผ่านมาหลายสิบรัฐบาล แต่เรื่องกลับถูกซุกไว้ใต้พรมการเมือง
วัตถุประสงค์ในการนำเสนอข่าว เรื่องนี้ เพื่อตีแผ่ให้สังคมเห็นถึง “ความไม่ปกติ” ในกระบวนการแก้ปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ชี้ให้เห็น “ทางออก” ในการแก้ปัญหาที่ดินแห่งนี้
ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินหลวงกับที่ดินเอกชน แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อ “ผู้ถือครองที่ดิน” มีอำนาจทางการเมือง คำชี้ขาดของ “หน่วยงานกระบวนการยุติธรรม” กลับไม่นำไปสู่การปฏิบัติตาม
ขณะที่ “หน่วยงานรัฐ” ภายใต้สังกัด ได้ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย หาทางออกให้ผู้มีอำนาจการเมือง
ที่ดินแห่งนี้ มีการจำแนกลักษณะเอกสารการใช้ที่ดิน 995 ฉบับ แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.โฉนดที่ดิน 700 ราย
2.ที่ดินมีการครอบครอง 19 ราย
3.หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส.3 ก. 7 ราย
4.หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง 1 ราย
5.ทางสาธารณประโยชน์ 53 แปลง
6.ไม่ปรากฏในระวางแผนที่ 129 แปลง
ในส่วนที่เป็นกลับมาเป็นเรื่องราวอีกครั้ง เนื่องจากข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาของศาล ระบุว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีการถือครองในชื่อบุคคล และนิติบุคคล รวมถึงปล่อยเช่าให้นิติบุคคลด้วยวิธีซับซ้อน โดยมีที่ดินอย่างน้อย 12 แปลง 288 ไร่ ที่อยู่ในชื่อคนในตระกูลการเมือง และนอมินี
“กรุงเทพธุรกิจ” จึงค้นหาข้อมูล และหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อพิสูจน์ว่า “เขากระโดง” มีเจ้าของตัวจริง คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ที่เป็นผู้มีเอกสิทธิ์ในการถือครอง ตั้งแต่การเวนคืนที่ดินปี 2462 สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กรมรถไฟหลวงเริ่มลงมือตรวจแนวทางรถไฟ เป็นไปตามพระราชโองการ เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟที่มีอยู่แล้วใน จ.นครราชสีมา
กระทั่งต่อมา ได้มีคำพิพากษา “ศาลฎีกา” และ “ศาลปกครอง” คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า
ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตร 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462
ทว่า กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ยังคงออกเอกสารชี้แจงรวม 3 ฉบับ อ้างว่า คณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ มีมติเอกฉันท์ “ไม่เพิกถอน” หนังสือแสดงสิทธิที่ดินบริเวณเขากระโดง ทุกอย่างดำเนินการถูกต้องตามข้อกฎหมาย โดยให้ รฟท.ไปพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่า ต้องการให้กระบวนการเพิกถอนที่ดินเขากระโดง ย้อนกลับไป “นับหนึ่ง”ใหม่ ทั้งที่ผ่านคำพิพากษาศาลอันถึงที่สุดมาแล้วหลายครั้ง
สะท้อนภาพให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจทางการเมืองพยายามหักล้างหลักฐาน เพื่อยื้อให้ที่ดินเขากระโดง อยู่ในความครอบครองของกลุ่มตัวเอง
จากการค้นหาเอกสารหลักฐาน พยานต่างๆ ติดตามตรวจสอบในหลายมิติ ในที่สุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีความพยายามหาทางออก
โดยกระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแล รฟท.ได้หาแนวทางดำเนินการที่เป็นธรรม ตามระเบียบปฏิบัติของราชการ และข้อกฎหมาย เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับประเด็นการออกโฉนดทับซ้อนบริเวณเขากระโดง
เตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีตาม ม.157 กับอธิบดีกรมที่ดิน ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรัฐ หากไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกให้กับประชาชนในพื้นที่ทับซ้อน
เตรียมฟ้องศาลปกครอง กรณีที่กรมที่ดินไม่เพิกถอนโฉนดตามพิพากษาของศาล
พร้อมทั้งหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าที่ดิน หรือการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ทับซ้อนของผู้ครอบครองรายบุคคล เพื่อตรวจสอบสัญญาเช่าที่ดินทั้งหมด และวางแผนจัดสรรพื้นที่ โดยเฉพาะแนวทางการให้เช่าพื้นที่จาก รฟท.
ดังนั้น คดีมหากาพย์ที่ดินเขากระโดง หลังจากถูกเปิดโปงหลักฐานต่างๆ ถูกตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายการเมืองที่กำกับดูแล เพื่อทวงคืนสมบัติแผ่นดิน เรื่องนี้จึงมีแนวโน้มจะนำไปสู่ข้อยุติได้ในที่สุด
กองบรรณาธิการ กรุงเทพธุรกิจ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์