เช็ก กทม. เปิด ศูนย์พักพิงชั่วคราว 11 แห่ง รองรับปชช. เหตุแผ่นดินไหว

เช็ก! กทม. อัปเดตรายชื่อ "ศูนย์พักพิงชั่วคราว" 11 แห่ง เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุ แผ่นดินไหว
จากเหตุการณ์ แผ่นดินไหว เมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ผนึกกำลังทุกฝ่ายและทุกสำนักจัดตั้ง War Room พร้อมรับมือ 24 ชั่วโมง และล่าสุดได้มีการเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว 11 แห่ง เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้
กทม. เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว อำนวยความสะดวกประชาชนที่ไม่สะดวกกลับเข้าที่พักหรือไม่มั่นใจในความปลอดภัยของที่พักอาศัย จำนวน 11 แห่ง ดังนี้
1. ศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง รองรับได้ 70 คน
2. บ้านพักผู้สูงอายุบึงสะแกงาม รองรับได้ 150 คน
3. บ้านพักผู้สูงอายุบางแค 2 รองรับได้ 20 คน (เฉพาะผู้สูงอายุ)
4. ศูนย์กีฬาบางมด รองรับได้ 100 คน (ต้องเตรียมเครื่องนอนและของใช้ส่วนตัวมาเอง)
5. ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) อาคารกีฬาเวสน์ 1 รองรับได้ 300 คน (ต้องเตรียมเครื่องนอนและของใช้ส่วนตัวมาเอง)
6. สวนลุมพินี เขตปทุมวัน
7. สวนเบญจสิริ เขตคลองเตย
8. สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย
9. สวนจตุจักร เขตจตุจักร
10. สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร
11. สวนสันติภาพ เขตราชเทวี
ข้อมูล ณ วันที่ 29 มี.ค. 68 เวลา 17.00 น.
กทม. เดินหน้าคุมพื้นที่ - ตรวจอาคาร - เร่งค้นหาผู้ใต้ซากตึกถล่ม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึง สถานการณ์แผ่นดินไหว ว่า ศูนย์บัญชาการสถานการณ์แผ่นดินไหว กรุงเทพมหานคร รายงานตัวเลขล่าสุดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 96 คน เสียชีวิต 8 คน รอดชีวิต 8 คน มารายงานตัวด้วยตัวเอง 1 คน อยู่ระหว่างการค้นหา 79 คน โดยในจำนวน 79 คนที่อยู่ในตึกได้ใช้เรดาร์หาตําแหน่งได้แล้ว 30 คน เหลืออีก 49 คนที่ยังหาตําแหน่งไม่ได้ สำหรับสถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายขึ้น เมื่อเช้าเราได้ส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรอาสา ไปตรวจ อาคารต่างๆ ปัจจุบันเรามีคนแจ้งเรื่องรอย แตกร้าวในอาคาร ผ่าน Traffy fondue จำนวน 6,000 เคส แล้วก็เริ่มทยอย ตรวจสอบเบื้องต้นก่อนว่าอันไหนหนัก อันไหนเบา
กทม. รับ 6 ข้อสั่งการ นายกฯ
ประเด็นแรก ให้ไปบริหารจัดการบริเวณที่จุดเกิดเหตุหน้างานที่บริเวณจตุจักร ให้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งก็ได้บริหารจัดการเรียบร้อยแล้ว
เรื่องที่ 2 เน้นเรื่องการให้ข้อมูลที่ถูกต้องโดยเฉพาะข้อมูลกับต่างประเทศเพราะว่ามีชาวต่างประเทศที่สนใจข้อมูล ซึ่งท่านนายกฯ ได้กรุณาให้กระทรวงต่างประเทศ และกรมประชาสัมพันธ์ มาประจําที่ศูนย์ฯ ซึ่งเรามีการให้ข้อมูลในภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาเมียนมาร์ หรือภาษาของบุคคลที่สูญหาย
เรื่องที่ 3 เรื่องการตรวจสอบอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งกทม. เรามีอํานาจอยู่แล้วในฐานะที่เป็นผู้อํานวยการปฏิบัติการ ในกรณีออกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยในพื้นที่ ระดับ 2 ดังนั้นเราจะมีคําสั่งออกไปเพื่อให้อาคารสูงอาคารขนาดใหญ่มีการตรวจสอบอาคารเพิ่มเติม ปกติต้องตรวจสอบทุกปี แต่ครั้งนี้เป็นกรณีเร่งด่วน ให้ตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ
เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องเปิดการจราจรบริเวณทางด่วนดินแดง ซึ่งท่านนายกฯ ได้มอบหมาย กทม. หารือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการ โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมือง กทม. วสท. และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นคณะกรรมการ โดยมีผู้ปฏิบัติงาน คือ ผู้รับเหมาที่ก่อสร้างอาคารที่เครนหล่นลงมา เพราะต้องรับผิดชอบในการดําเนินการ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการได้เริ่มดําเนินการแล้ว และคิดว่าจะทําให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด เป้าหมายอยากให้เปิดใช้วันจันทร์ให้ได้แต่ต้องรอดูสถานการณ์
เรื่องที่ 5 คือ เรื่องความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งมีเครื่องเอกซเรย์มาจาก อิสราเอล มาถึงคืนนี้เวลาเที่ยงคืน นอกจากนี้ก็มีหน่วยต่างๆ ที่จะมาช่วยเหลือ ได้มอบหมายให้ กทม. เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งต้องขอขอบคุณและมีหลายประเทศอยากจะเข้ามาช่วยเหลือ
เรื่องที่ 6 คือเรื่องการสอบสวนว่าข้อผิดพลาดของตึกที่ถล่มเกิดจากอะไร ท่านนายกฯ ได้สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหัวหน้า กทม. เป็นผู้ร่วมในการสืบสวน ซึ่งได้สั่งการแล้วให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเก็บข้อมูลทั้งหมดของอาคารแล้ว