รอยเลื่อนมีพลัง สาเหตุหลุมยุบแม่ฮ่องสอน ดินทรุดกินที่ดินเกษตร

เปิดสาเหตุ "หลุมยุบแม่ฮ่องสอน" กินที่ดินเกษตร บนรอยเลื่อนมีพลัง รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ดินทรุดต่อเนื่อง หวั่นกระทบหนัก ขยายตัวจากเหตุแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว
อัปเดตหลุมยุบแม่ฮ่องสอน เปิดสาเหตุ "หลุมยุบ" กินที่ดินเกษตร บนรอยเลื่อนมีพลัง รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ดินทรุดต่อเนื่อง หวั่นกระทบหนัก ขยายตัวจากเหตุแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว
จากกรณี นายณรงค์พัชญ์ นาคทรัพย์ นายอำเภอขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน รับแจ้งเหตุพบหลุมยุบหลายขนาด บริเวณพื้นที่การเกษตรบ้านแม่สุริน หมู่ที่ 3 ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา
สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 ได้ร่วมกับ นายณรงค์พัชญ์ นาคทรัพย์ นายอำเภอขุนยวม, รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนยวม, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 เจ้าของพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบหลุมยุบ
ผลการตรวจสอบเหตุการณ์หลุมยุบ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา จำนวน 6 หลุม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2 - 30 เมตร มีการทรุดตัวและขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่เกษตรกรรม
หลุมยุบเกิดกระจุกตัวเป็นกลุ่มในแนวเหนือ-ใต้ อยู่บนรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นรอยเลื่อนมีพลัง โดยมีลักษณภูมิประเทศเป็นที่ราบแคบ ใกล้กับภูเขาหินปูน ชั้นดินที่เกิดหลุมยุบเป็นดินเหนียวปนทราย
ทำให้น้ำขังในหลุมยุบมีลักษณะขุ่นข้น ปากหลุมมีลักษณะค่อนข้างกลมและสมมาตร รวมทั้งเป็นรูปกรวย บ่งชี้ถึงชั้นดินยุบตัวในแนวดิ่งลงสู่โพรงด้านล่างอย่างรวดเร็ว
หลุมยุบดังกล่าว เกิดจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ทำให้ระดับน้ำใต้ดินกวัดแกว่งขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แรงดันในช่องโพรงใต้ดินมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ชั้นดินถูกกัดเซาะ
เมื่อโพรงมีขนาดใหญ่ขึ้น และเพดานโพรงบางลงจนไม่สามารถรับน้ำหนักชั้นดินด้านบนได้ จนทำให้พังทลายยุบตัวลงและกลายเป็นหลุมยุบในที่สุด
สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 แนะนำ ข้อปฏิบัติจากเหตุหลุมยุบแม่ฮ่องสอน ที่มีผลพวงมาจากแผ่นดินไหวล่าสุด ดังนี้
- ล้อมรั้วรอบบริเวณ ห้ามคนหรือสัตว์เลี้ยงเข้าใกล้ และปิดป้ายแจ้งเตือน
- เฝ้าระวัง และติดตามการทรุดตัวของพื้นดิน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวยังมีรอยแตกปรากฏอยู่
- งดใส่ปุ๋ย พ่นยาในพื้นที่จนกว่าจะมีการถมกลบหลุมยุบ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน
- ทำการสำรวจธรณีวิทยาใต้ผิวดิน โดยวิธีธรณีฟิสิกส์ ซึ่งผลที่ได้จะนำมาใช้ในการกำหนดแนวทางลดผลกระทบต่อไป
- ชี้แจงสาเหตุและแนวทางป้องกันแก่หน่วยงานและประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนคืออะไร?
BIOTHAI มูลนิธิชีววิถี เปิดเผยว่า กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนเป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่มีแนวการวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ พาดผ่านพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก มีลักษณะสำคัญดังนี้
แนวการวางตัว
- เริ่มต้นจากอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
- ผ่านอำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ต่อเนื่องลงมาถึงบริเวณทิศเหนือของอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
- มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร
- ไม่ได้เป็นเส้นเดียวต่อเนื่องกัน แต่แบ่งเป็นหลายท่อน
ลักษณะทางธรณีวิทยา
- พาดผ่านหินตะกอนเป็นส่วนใหญ่ เช่น หินดินดาน หินทราย หินปูน และตะกอนกรวดทราย
- มีการเลื่อนตัวในแนวดิ่งแบบรอยเลื่อนปกติ
- พบหลักฐานธรณีสัณฐาน เช่น ตะพักรอยเลื่อน, ผาสามเหลี่ยม, และทางน้ำแบบหุบเขารูปแก้วไวน์
กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พบการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กและปานกลางบ่อยครั้ง
เหตุการณ์สำคัญบนรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน : แผ่นดินไหวขนาด 5.1 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2532 มีศูนย์เกิดในประเทศเมียนมา และรับรู้ได้ในหลายจังหวัดภาคเหนือของไทย
สรุปข้อมูลเพิ่มเติม รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ข้อมูลทางธรณีวิทยาบ่งชี้ว่าพื้นที่นี้มีการยกตัวอย่างต่อเนื่อง รอยเลื่อนกลุ่มนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดแอ่งต่างๆในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเช่น แอ่งแม่ฮ่องสอน แอ่งขุนยวม แอ่งแม่ลาน้อย และแอ่งแม่สะเรียง ซึ่งรอยเลื่อนนี้เป็นหนึ่งในรอยเลื่อนที่ยังมีพลังในประเทศไทย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ข้อมูลกลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน (คลิก)
อ้างอิง-ภาพ : สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 กรมทรัพยากรธรณี , มูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation)