กู้ซากตึก สตง. แบ่งพื้นที่โซน ใช้เครื่องมือหนัก ค้นหาผู้รอดชีวิต

ตามภารกิจกู้ภัย กู้ซากตึก สตง. ถล่ม ค้นหาผู้รอดชีวิต พบผู้เสียชีวิต 15 คน แบ่งพื้นที่โซน ปรับแผนใช้เครื่องมือหนักเข้าทำงาน เร่งช่วยเหลือผู้ติดค้าง สรุปอาฟเตอร์ช็อก
"กรุงเทพธุรกิจ" เกาะติด แผ่นดินไหว กระทบไทยล่าสุดวันนี้ อัปเดตภารกิจ กู้ภัย กู้ซากตึก สตง. ถล่ม ค้นหาผู้รอดชีวิต ล่าสุดพบผู้เสียชีวิต 15 คน แบ่งพื้นที่โซน ปรับแผนใช้เครื่องมือหนักเข้าทำงานต่อเนื่อง ทำงานเต็มที่ เร่งช่วยเหลือผู้ติดค้าง
สรุป อาฟเตอร์ช็อก ล่าสุด รวม 325 เหตุการณ์ เกิดเหตุแผ่นดินไหว 2.5 ไม่กระทบไทย ดูสดจุดเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวเมียนมา ณ ตำแหน่งปัจจุบันที่เกิดขึ้น
หลังจากเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ตึก สตง.) แห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ที่เกิดเหตุ บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นอาคารสูง 30 ชั้น มูลค่า 2,136 ล้านบาท ได้พังถล่มลงมา
โดยสาเหตุหลักของตึกถล่มมาจากผลกระทบของ "แผ่นดินไหวเมียนมา" ขนาด 8.2 ที่มีจุดศูนย์กลางจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย เหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้ส่งผลกระทบต่อหลายจังหวัดในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯ และมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง
ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และมีผู้ติดค้างอยู่ภายในอาคารที่พังถล่มลงมา ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากการกู้ภัยยังดำเนินต่อไป
ล่าสุดวันนี้ 5 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "กรุงเทพมหานคร" ได้รายงานสถานการณ์ล่าสุด อาคาร สตง. ถล่ม เขตจตุจักร กู้ซากตึก ช่วยเหลือผู้ติดค้างล่าสุด มีรายละเอียดดังนี้
รายงานการปฏิบัติตึกถล่ม สตง. ประจำวันที่ 4 เมษายน 2568 ข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2568 เวลา 08.00 น. EOC ปฏิบัติการ (ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน) มี ผอ.กปก.1 เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบ
หน้าที่หลักของ EOC ปฏิบัติการ ได้แก่
- ควบคุมการเข้าออกพื้นที่ปฏิบัติงาน และรับลงทะเบียนเข้าออกพื้นที่
- รวบรวมข้อมูลการค้นหาร่างผู้เสียชีวิต (รายงานผลในกลุ่มไลน์แผ่นดินไหวฯ ทันทีที่พบ)
- ควบคุมการเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
- ประสานงานการปฏิบัติกับ EOC ศปก. และ ICP ทางข่ายวิทยุ
- จัดทำและรวบรวมข้อมูลการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่
- รวบรวมและรายงานข้อมูลให้ EOC ศปก.
ICP (Incident Command Post) เป็นส่วนย่อยของ EOC ปฏิบัติการ
แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก:
ICP ค้นหาและกู้ภัย
- ผอ.กปก.3 ควบคุมการปฏิบัติการค้นหาร่างผู้เสียชีวิตและผู้ประสบภัย
- กำหนดแผนการปฏิบัติในพื้นที่
ICP ช่าง
- ผอ.สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (นายไทวุฒิฯ) ควบคุมการปฏิบัติเกี่ยวกับโครงสร้างอาคาร
ICP ตรวจสอบและเคลื่อนย้าย
- มี ตร. ควบคุมการปฏิบัติการตรวจสอบและเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิต ชิ้นส่วนอวัยวะ ผู้ประสบภัย และจัดทำข้อมูล
รายงานการปฏิบัติงานกู้ซากตึก สตง. ถล่ม เขตจตุจักรล่าสุด
อัปเดตการปฏิบัติงานกู้ซากตึก สตง. ถล่ม เขตจตุจักรล่าสุด ประจำวันที่ 4 เมษายน 2568 ข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2568 เวลา 08.00 น.
- พื้นที่โซน A และ C ใช้เครื่องจักรหนักเปิดหน้างาน
- พื้นที่โซน D จัดเจ้าหน้าที่เข้าค้นหาผู้ประสบภัย ร่างผู้เสียชีวิต และชิ้นส่วนมนุษย์
- ใช้โดรนขึ้นบินค้นหาผู้ประสบภัย ร่างผู้เสียชีวิต และชิ้นส่วนมนุษย์
ทีมนานาชาติที่ปฏิบัติภารกิจ
- US Air Force (36 คน) ผลัด 6-8 คน ต่อ 4 ชม. มีศักยภาพด้านการค้นหาและกู้ภัยระบบเชือก
- ISR-1 Israel National Search and Rescue Unit (NRU) จากประเทศ Israel จำนวน 22 คน
- US Army Corps of Engineers จาก อเมริกา จำนวน 7 คน
สรุปภารกิจเคลื่อนย้ายรถ B1 จำนวน 13 คัน
- เจ้าของยื่นเอกสารรับกลับ 6 คัน
- เก็บรักษาไว้ 7 คัน
อัปเดตสถานการณ์ล่าสุด อาคารถล่ม สตง. เขตจตุจักร เวลา 08.00 น.
กรุงเทพมหานคร สรุปความคืบหน้าช่วยผู้ประสบภัย อาคาร สตง.ถล่ม เขตจตุจักร จากเหตุแผ่นดินไหวเมียนมากระทบไทย ข้อมูลล่าสุด วันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 08.00 น. มีรายละเอียดดังนี้
- มียอดผู้ประสบเหตุทั้งหมด 103 ราย
- ผู้เสียชีวิต 15 ราย แบ่งออกเป็นผู้ชาย 8 ราย ผู้หญิง 7 ราย
- ผู้บาดเจ็บ รอดชีวิต 9 ราย
- สูญหาย (ติดค้าง) 79 ราย
โดยช่วงเช้าเครื่องมือหนักเข้าทำงานต่อเนื่อง
อัปเดตสถานการณ์การเกิดอาฟเตอร์ช็อกล่าสุด
กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์การเกิดอาฟเตอร์ช็อกล่าสุด เมื่อเวลา 06.08 น. ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหว 2.5 ซึ่งเป็นความรุนแรงขนาดเล็ก ไม่กระทบไทย สรุปอาฟเตอร์ช็อก รวมทั้งสิ้น 325 เหตุการณ์
สรุป Aftershocks แผ่นดินไหวประเทศเมียนมา อัปเดตเวลา 07.00 น. วันที่ 5 เมษายน 2568
กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา สรุปข้อมูลเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อก (Aftershocks) อัปเดตเวลา 07.00 น. วันนี้ 5 เมษายน 2568 ได้ดังนี้
จำนวนครั้งของแผ่นดินไหวตามขนาด
- ขนาดความรุนแรงแผ่นดินไหว 1.0-2.9 จำนวน 102 ครั้ง
- ขนาดความรุนแรงแผ่นดินไหว 3.0-3.9 จำนวน 151 ครั้ง
- ขนาดความรุนแรงแผ่นดินไหว 4.0-4.9 จำนวน 60 ครั้ง
- ขนาดความรุนแรงแผ่นดินไหว 5.0-5.9 จำนวน 11 ครั้ง
- ขนาดความรุนแรงแผ่นดินไหว 6.0-6.9 จำนวน 0 ครั้ง
- ขนาดความรุนแรงแผ่นดินไหว 7.0 ขึ้นไป จำนวน 1 ครั้ง
รวมแผ่นดินไหวทั้งหมด 325 เหตุการณ์
ช่องทางดูสถานการณ์เกิดแผ่นดินไหวล่าสุดจุดไหนบ้าง?
- เช็คนาทีต่อนาที เกาะติดแผ่นดินไหว ล่าสุด อัปเดตการเกิดอาฟเตอร์ช็อกแบบเรียลไทม์ (คลิก)
ดูสด ภาพแสดงจุดเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวเมียนมา ณ ตำแหน่งปัจจุบันที่เกิดขึ้น
กทม. ตั้งศูนย์พักคอย ดูแลญาติเหยื่อตึกถล่มเต็มที่! ย้ำ #เราจะไม่หยุดจนกว่าทุกคนกลับบ้าน
กรุงเทพมหานคร เดินหน้าเต็มที่ในการดูแลญาติผู้ประสบภัย เหตุแผ่นดินไหวตึกถล่ม ที่มาเกาะติดความคืบหน้าการค้นหาในพื้นที่ ด้วยการจัดตั้งศูนย์พักคอยญาติผู้ประสบภัย
เพื่ออำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัย รวมถึงจัดทีมแพทย์คอยดูแลเยียวยาสภาพจิตใจของญาติผู้ประสบภัย #เราจะไม่หยุดจนกว่าผู้ประสบภัยทุกท่านจะได้กลับบ้าน
อ้างอิง-ภาพ : NationPhoto , กรุงเทพมหานคร , Earthquake TMD , Fire & Rescue Thailand