คืนนี้ชวนดู "ฝนดาวตกไลริดส์" อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 18 ดวง/ชม.

ห้ามพลาดชม ปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกไลริดส์" คืนนี้ (22 เม.ย.) ถึงรุ่งเช้าวันที่ 23 เม.ย. 68 อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 18 ดวงต่อชั่วโมง
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. รายงานว่า คืนวันที่ 22 เมษายน 2568 ถึงรุ่งเช้าวันที่ 23 เมษายน 2568 จะเกิดปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกไลริดส์" โดยจะเริ่มเวลาประมาณ 21.38 น. เป็นต้นไป
แต่ทั้งนี้อาจจะมีแสงจันทร์รบกวนหลังเวลา 02.20 น. โดยสามารถเริ่มสังเกตจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวพิณ ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 18 ดวงต่อชั่วโมง สามารถสังเกตการณ์ได้ทั่วประเทศ หากฟ้าใสไร้เมฆและอยู่ในบริเวณที่มืดสนิทปราศจากแสงรบกวน
สดร. ชวนดู "ดาวศุกร์สว่างที่สุด" รุ่งเช้า 24 เมษายน 2568
และในวันที่ 24 เมษายน 2568 "ดาวศุกร์" จะปรากฏสว่างที่สุดเป็นครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้ เห็นชัดด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. เป็นต้นไป จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า หากดูผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์ปรากฏถัดลงมาใกล้ขอบฟ้า อีกทั้งยังมีดวงจันทร์เสี้ยวปรากฏสว่างถัดขึ้นไปอีกด้วย หากทัศนวิสัยท้องฟ้าดีสามารถชมความสวยงามของดาวศุกร์และวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ หากดาวศุกร์ปรากฏบนท้องฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า "ดาวประจำเมือง" แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นคนไทยจะเรียกว่า "ดาวประกายพรึก"
"ดาวศุกร์สว่างที่สุด" คือช่วงที่ดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวที่มีขนาดใหญ่จากมุมมองบนโลก แม้จะไม่เต็มดวง แต่เนื่องจากอยู่ใกล้โลกและมีพื้นที่ผิวที่สะท้อนแสงอาทิตย์ได้มาก จึงทำให้ดาวศุกร์ดูสว่างจ้ามากกว่าช่วงอื่นๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลกมาก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ