ดัชนีความร้อนวันนี้ ภูเก็ต ระดับอันตรายมาก - 35 จว. เฝ้าระวังพิเศษ

ดัชนีความร้อนวันนี้ ภูเก็ต ระดับอันตรายมาก - 35 จว. เฝ้าระวังพิเศษ

ระวัง! ร้อนจัด กรมอนามัย เตือน ภูเก็ตวิกฤต "Heat Index" ระดับอันตรายมาก กทม. และ 35 จังหวัด เสี่ยงอันตรายจากอากาศร้อนจัด

วันนี้ (23 เม.ย. 68) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกโรงเตือนประชาชนทั่วประเทศให้เตรียมพร้อมรับมือกับ สภาพอากาศร้อนจัด และ พายุฤดูร้อน ที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่ ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) พุ่งสูงถึงระดับอันตรายมาก (สีแดง) ในขณะที่กรุงเทพมหานครและอีก 35 จังหวัดทั่วประเทศ มีค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (สีส้ม) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงสถานการณ์ที่น่ากังวลนี้ว่า "ในช่วงวันที่ 23 – 24 เมษายน 2568 คาดการณ์ว่าค่าดัชนีความร้อนจะอยู่ในระดับอันตรายมากที่จังหวัดภูเก็ต และระดับอันตรายในอีกหลายจังหวัด ซึ่งค่านี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงอุณหภูมิที่ร่างกายรู้สึกได้จริง และเมื่ออยู่ในระดับสีส้มถึงสีแดง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากความร้อน เช่น ผื่น ตะคริว ลมแดด เพลียแดด และที่ร้ายแรงที่สุดคือ ฮีทสโตรก ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้"
 

จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง สภาพอากาศร้อนจัด เป็นพิเศษ

จังหวัดที่กรมอนามัยเฝ้าระวังเป็นพิเศษในขณะนี้ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, พิจิตร, สุรินทร์, พังงา, ตาก, บึงกาฬ, หนองคาย, ตราด, ลำปาง, กระบี่, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, สระแก้ว, อุดรธานี, เพชรบูรณ์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, ลพบุรี, จันทบุรี, ชุมพร, นครสวรรค์, เพชรบุรี, ปราจีนบุรี, นครราชสีมา, ระยอง, บุรีรัมย์, แม่ฮ่องสอน, สุโขทัย, สุราษฎร์ธานี, ชัยภูมิ, นครศรีธรรมราช, ปัตตานี, ร้อยเอ็ด และประจวบคีรีขันธ์

กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

อธิบดีกรมอนามัย ยังเน้นย้ำถึงกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ผู้ที่ติดสุรา ผู้ที่มีภาวะทางจิตเวช ผู้ที่มีภาวะอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว

พร้อมกันนี้ กรมอุตุฯ ยังแจ้งเตือนถึง สภาพอากาศแปรปรวน ในหลายพื้นที่ ที่อาจมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง จึงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน และระวังอันตรายจากสภาพอากาศดังกล่าว

แนวทางการปฏิบัติตนป้องกันอันตรายจากความร้อน

ด้านนายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย ได้แนะนำแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอันตรายจากความร้อน ดังนี้

  • ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและค่าดัชนีความร้อนอย่างสม่ำเสมอ
  • ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ แม้จะไม่รู้สึกกระหาย และสังเกตสีปัสสาวะ หากมีสีเข้มให้ดื่มน้ำทันที
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมา และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
  • สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
  • ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด ควรสังเกตอาการตนเอง หากผิดปกติให้รีบพบแพทย์
  • ผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อสังเกตอาการซึ่งกันและกัน
  • ผู้สูงอายุ ควรดื่มน้ำบ่อยๆ พักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในที่อากาศถ่ายเท และเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศและค่าดัชนีความร้อนได้จากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือติดตามแนวทางการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนได้จากกรมอนามัย รวมถึงสามารถประเมินอาการเสี่ยงด้วยตนเองผ่านแบบสำรวจอนามัยโพล หากพบอาการผิดปกติ เช่น ผิวหนังร้อนแดง ชีพจรเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน หรือหมดสติ ซึ่งเป็นสัญญาณของฮีทสโตรก ให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็ว และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669 หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

กรมอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอความร่วมมือประชาชนให้ตระหนักถึงอันตรายจากสภาพอากาศร้อนจัดและพายุฤดูร้อน และปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อป้องกันตนเองและคนที่ท่านรักให้ปลอดภัย