กทม. ออกกฎหมายใหม่ คุมเข้มเลี้ยงหมา-แมว ต้องรู้ก่อนสายเกินแก้

กทม. ออกกฎหมายใหม่ คุมเข้มคนเลี้ยงหมา-แมว เริ่มบังคับใช้ปี 69 ต้องขึ้นทะเบียน ใช้สายจูง จำกัดจำนวนตามขนาดพื้นที่ ฝ่าฝืนมีโทษ
ปี 2569 กรุงเทพมหานครจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายใหม่ควบคุมการเลี้ยงสุนัขและแมวอย่างเข้มงวด เจ้าของต้องจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง พาสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านต้องใช้สายจูง และจำนวนสัตว์เลี้ยงต้องเป็นไปตามขนาดพื้นที่อาศัย หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย มาเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ใหม่นี้ก่อนจะสายเกินแก้
กรุงเทพมหานครประกาศใช้ข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2569 โดยมีสาระสำคัญคือการจำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยงตามขนาดพื้นที่ และกำหนดให้เจ้าของสุนัขและแมวต้องนำสัตว์เลี้ยงไปจดทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนด หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามกฎหมาย
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ข้อบัญญัตินี้มีเป้าหมายเพื่อความปลอดภัยของทั้งคนและสัตว์เลี้ยง โดยกำหนดหลักเกณฑ์การเลี้ยงสัตว์ต่างๆ อย่างชัดเจน ดังนี้
จำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยงตามขนาดพื้นที่
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ (โค กระบือ ม้า กวาง) : ไม่เกิน 1 ตัว ต่อพื้นที่ 50 ตารางวา
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก (แพะ แกะ สุกร ม้าแคระ) : ไม่เกิน 3 ตัว ต่อพื้นที่ 50 ตารางวา
สัตวปีก :
- ไก่ เป็ด ห่าน: ไม่เกิน 1 ตัว ต่อพื้นที่ 4 ตารางเมตร
- นกขนาดใหญ่ (นกกระจอกเทศ): ไม่เกิน 1 ตัว ต่อพื้นที่ 50 ตารางเมตร
- นกขนาดเล็ก: ไม่เกิน 5 ตัว ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
ห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ควบคุมในที่สาธารณะ ยกเว้นในบางกรณี เช่น การรักษาพยาบาล การจัดกิจกรรมที่ กทม. กำหนด การย้ายที่อยู่ การเลี้ยงของหน่วยงานราชการ และการปล่อยเพื่อการกุศลหรือตามประเพณี
สำหรับสุนัขและแมว
ต้องจดทะเบียน : เจ้าของต้องนำใบรับรองไปจดทะเบียน ณ สถานที่ที่ กทม. กำหนด ภายใน 120 วันนับแต่วันที่สัตว์เกิด หรือภายใน 30 วันนับแต่วันที่นำสัตว์มาเลี้ยงในกรุงเทพฯ
จำกัดจำนวนตามที่อยู่อาศัย
- ห้องเช่า/คอนโดมิเนียม 20-80 ตร.ม. : 1 ตัว
- ห้องเช่า/คอนโดมิเนียม 80 ตร.ม. ขึ้นไป : ไม่เกิน 2 ตัว
- เนื้อที่ดินไม่เกิน 20 ตร.ว.: 2 ตัว
- เนื้อที่ดินไม่เกิน 50 ตร.ว.: 3 ตัว
- เนื้อที่ดินไม่เกิน 100 ตร.ว.: 4 ตัว
- เนื้อที่ดิน 100 ตร.ว. ขึ้นไป: ไม่เกิน 6 ตัว
ต้องใช้สายจูงเมื่อนำออกนอกบ้าน : สุนัขและแมวทุกตัวต้องใช้สายจูงที่แข็งแรง หรืออยู่ในกระเป๋า/คอก/กรง ที่เหมาะสมตลอดเวลาที่อยู่นอกสถานที่เลี้ยง ห้ามปล่อยให้รบกวนผู้อื่น และเจ้าของต้องเก็บอุจจาระสัตว์ในที่สาธารณะทุกครั้ง
สุนัขควบคุมพิเศษต้องมีมาตรการเพิ่มเติม : สุนัขพันธุ์อันตราย หรือมีประวัติทำร้ายคน เช่น พิทบูล ร็อตไวเลอร์ ต้องใส่อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรง และจับสายจูงห่างจากคอไม่เกิน 50 เซนติเมตรตลอดเวลา
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้เปิดให้บริการ ฝังไมโครชิป ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และผ่าตัดทำหมันให้สุนัขและแมวฟรี ที่คลินิกสัตวแพทย์ของ กทม. ทั้ง 8 แห่ง เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลินิกดังนี้:
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 1 สีพระยา เขตบางรัก โทร. 0 2236 4055 ต่อ 213
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 2 มีนบุรี เขตมีนบุรี โทร. 0 2914 5822
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 3 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา โทร. 0 2392 9278
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 4 บางเขน เขตจตุจักร โทร. 0 2579 1342
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 5 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ โทร. 0 2472 5895 ต่อ 109
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 6 ช่วงนุชเนตร เขตจอมทอง โทร. 0 2476 6493 ต่อ 1104
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 7 บางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย โทร. 0 2411 2432
- กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง โทร. 0 2248 7417
กรุงเทพมหานครจึงขอให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงและผู้ที่สนใจเลี้ยงสัตว์ ศึกษาข้อบัญญัติดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตามกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2569 นี้