เด็กทุกคนได้เรียนแน่! สพฐ. ย้ำ ม.1 ม.4 มีที่ว่าง 3 แสน พร้อมรับสมัคร

ไม่ต้องกังวลเรื่องที่เรียน! สพฐ. ยืนยันโรงเรียนในสังกัดยังมีที่ว่างสำหรับนักเรียน ม.1 และ ม.4 อีกจำนวนมาก เตรียมเปิดรับสมัครต่อเนื่อง ย้ำชัด เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน
วันนี้ (24 เม.ย. 68) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา และยืนยันว่าเด็กทุกคนต้องมีที่เรียนอย่างแน่นอน
ภายหลังจากการดำเนินการสอบคัดเลือกและมอบตัวนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะนี้มีนักเรียนที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. แล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,097,902 คน แบ่งเป็นระดับอนุบาล 218,426 คน, ประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 266,846 คน, มัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 372,206 คน และมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 240,324 คน
อย่างไรก็ตาม สพฐ. ยืนยันว่ายังมีที่นั่งว่างในโรงเรียนที่ยังรับนักเรียนไม่เต็มตามแผนการรับอีกกว่า 3 แสนที่นั่ง โดยแบ่งเป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 217,286 ที่นั่ง และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 97,511 ที่นั่ง
จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 เมษายน 2568 พบว่ามีนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียนไ ด้ยื่นความจำนงขอรับการจัดสรรที่เรียน ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศแล้วจำนวน 18,737 คน แบ่งเป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 14,844 คน และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 3,893 คน ซึ่งจะมีการประกาศผลและมอบตัวภายในวันที่ 27 เมษายนนี้
สำหรับโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะประกาศผลการจัดสรรที่เรียนในวันที่ 23 - 24 เมษายนนี้ และคาดการณ์ว่าภายหลังจากการประกาศผลแล้ว จะยังมีที่นั่งว่างคงเหลืออีกกว่า 6,500 ที่นั่ง
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียนสามารถยื่นความจำนงได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของ สพฐ. ทุกเขต เพื่อให้ดำเนินการจัดสรรที่เรียนให้ทุกคน แม้ว่าจะเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 ไปแล้ว หากโรงเรียนใดยังมีที่นั่งว่าง นักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียน หรือนักเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาที่มีอายุระหว่าง 3-18 ปี ก็ยังสามารถกลับเข้ามาเรียนได้ ณ โรงเรียนสังกัด สพฐ.
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ควบคู่ไปกับนโยบาย “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ของ สพฐ. ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ” นายคารม กล่าวย้ำ