กทม. ขยายเวลายื่นขอรับเงิน เยียวยาแผ่นดินไหว ยอดดับตึกถล่ม 60 ราย

กทม. ขยายเวลายื่นขอรับเงิน เยียวยาแผ่นดินไหว ถึงวันที่ 2 พ.ค. 68 - อัปเดตกู้ซาก ตึก สตง. ถล่ม ยอดผู้เสียชีวิต 60 ราย ยังติดค้าง 34 ราย
อัปเดต เงินเยียวยาแผ่นดินไหว ล่าสุด กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ขยายเวลาการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุ"แผ่นดินไหว" ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ยื่นได้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร
โดย นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม. ได้ขยายเวลาการยื่นคำขอหนังสือรับรองกรณีผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว จากเดิมจะหมดเขตในวันที่ 27 เม.ย.นี้ แต่ กทม. จะขยายเวลายื่นหนังสือฯไปอีก 5 วัน จนถึงวันที่ 2 พ.ค. 68 เนื่องจากเข้าใจว่าประชาชนบางส่วนติดขัดในเรื่องของการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นวันหยุดยาว ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดมีผู้ยื่นหนังสือ 39,127 ราย โดยอยู่ในพื้นที่เขตจตุจักรมากที่สุด 5,167 ราย
กทม. ขยายเวลายื่นขอรับเงินเยียวยาแผ่นดินไหว ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 นี้ เช็กขั้นตอน - เอกสารที่ต้องเตรียม - ระยะเวลาได้รับเงิน
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบสิทธิ
- ค่าวัสดุซ่อมแซมบ้าน เฉพาะบ้านหรือห้องที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลักเพียงแห่งเดียวเท่านั้น (ทั้งกรณีเจ้าของและผู้เช่า ผู้ให้เช่าไม่สามารถขอรับสิทธิได้) ช่วยเหลือไม่เกิน 49,500 บาท/หลัง
- ค่าเช่าบ้าน หรือค่าที่พักอาศัยชั่วคราว ช่วยเหลือ เดือนละไม่เกิน 3,000 บาท/ครอบครัว (เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน รวมแล้วไม่เกิน 6,000 บาท) สำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องย้ายออกจาก
- คอนโดไลฟ์ ลาดพร้าว แอลลีย์ (เขตจตุจักร)
- คอนโดสกายไรส์ อเวนิว สุขุมวิท 64 (เขตพระโขนง)
และไม่ได้เข้าพักในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ กทม. จัดสรร
- ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ในกรณีที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว วงเงินช่วยเหลือตามการประเมินขนาดความเสียหายหน้างาน ไม่เกิน 49,500 บาท/หลัง
- ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์และมีใบรับรองแพทย์
- ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยนอก จ่ายตามจริงไม่เกิน 2,000 บาท
- ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยใน 4,000 บาท
- ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ บาดเจ็บถึงขั้นพิการ 13,300 บาท
- เงินปลอบขวัญผู้บาดเจ็บ กรณีได้รับบาดเจ็บพร้อมมีใบรับรองแพทย์ ช่วยเหลือ 2,300 บาท/คน
- เงินทุนประกอบอาชีพ สำหรับผู้ประกอบอาชีพหลักที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว วงเงินช่วยเหลือตามความเสียหายจากข้อเท็จจริง ไม่เกิน 11,400 บาท
ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมเอกสาร และการส่งเอกสาร
- จัดเตรียมเอกสารแนบหลัก
- จัดเตรียมเอกสารแนบเพิ่มเติมตามการช่วยเหลือแต่ละประเภท
ดาวน์โหลดได้ที่ : เอกสารแบบฟอร์ม shorturl.at/gkUl2
ตัวอย่างการกรอกเอกสาร shorturl.at/OjNQY
หรือดาวน์โหลดแบบฟอร์มต่างๆ ได้จาก QR Code บนภาพ พร้อมกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง
ขั้นตอนที่ 3 การตรวจอาคาร
- เจ้าหน้าที่จาก กทม. จะลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายจริง เพื่อประเมินสิทธิในการช่วยเหลือ (ประเมินค่าวัสดุซ่อมแซมตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้เกิดภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562)
ขั้นตอนที่ 4 รอรับเงินช่วยเหลือ
- เมื่อได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจาก กทม. แล้ว กทม.จะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยา โดยคาดว่าประชาชนจะทยอยได้รับเงินประมาณ 60 วัน หลังจากวันสุดท้ายที่ปิดรับยื่นเอกสาร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเขตใกล้บ้านคุณทั้ง 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร
อัปเดต ตึก สตง. ถล่ม มีผู้เสียชีวิต 60 ราย บาดเจ็บ 9 ราย ยังติดค้าง 34 ราย
วันนี้ (25 เม.ย.68) เวลา 10.30 น. นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.) แถลงความคืบหน้าเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม เขตจตุจักร ว่า การดำเนินงานรื้อซากอาคารและค้นหาร่างผู้สูญหาย ผลการดำเนินงานในภาพรวมในทุกโซน A - D จะมีความสูงใกล้เคียงกัน โดย โซน A และ D อาจมีระดับต่ำกว่าเล็กน้อย ซึ่งล่าสุดในเวลา 09.30 น. จะอยู่ที่ประมาณ 4.30 เมตร ซึ่งลดลงจากเมื่อวาน 1.47 เมตร เป็นไปตามแผนที่จะสามารถขนย้ายซากอาคารไปถึงชั้น 1 ภายในสิ้นเดือนนี้
สำหรับแผนการดำเนินงานยังเป็นไปตามเดิมเพียงแต่ติดอุปสรรคเล็กน้อยคือ วานนี้ (24 เม.ย. 68)ได้มีการเปิดช่องจราจรเพิ่มอีกหนึ่งฝั่ง ทำให้การขนส่งซากปูนและเหล็กรวมถึงเศษวัสดุดำเนินการได้ช้าลงจากการจราจร รวมถึงระยะทางที่รถบรรทุกต้องวิ่งเพิ่มขึ้นจากการกลับรถตามกระแสส้นทางการจราจร จากเดิมวิ่ง 1 กม. เป็น 2 กม. จึงส่งผลทำให้รอบของการขนส่งน้อยลง วันนี้จึงจะเสริมรถเพิ่มเติมของทางอิตาเลียน-ไทย ประมาณ 4 คัน รวมถึงมีกำลังพลขับสนับสนุนจากทหารในการขับรถขนส่งอีก 10 นาย แบ่งเป็น 2 ผลัด ผลัดละ 5 นาย เพื่อเร่งการขนซากปูนและเหล็กรวมถึงวัสดุอาคารจากซากอาคารในโซน c และ D ให้ได้รอบมากขึ้น ส่วน โซน A รอบขนส่งยังเป็นไปตามแผนเดิม
ส่วนแผนการดำเนินการเมื่อถึงชั้นใต้ดินจะปรับแผนใหม่โดยเปิดหน้ากว้างในโซน A และ D เพื่อให้หน้าอาคามีความกว้างสะดวกในการทำงานและขนวัสดุออกมาด้านหน้าได้เต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้ระยะเวลาในการทำงานสั้นลงและเร็วขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะขนวัสดุออกจากชั้นใต้ดินออกทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้สูญหายจะไม่มีตกค้างอยู่ที่ชั้นใต้ดินซากอาคาร ซึ่งชั้นใต้ดินมีความลึกประมาณ 4 เมตร
สำหรับผู้สูญหาย วานนี้มีการพบอีก 1 ร่าง ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเพศหญิง ส่วนช่วง 18.00-19.00 น. พบอีก 2 ร่างแต่ไม่สามารถระบุเพศได้ รวมเป็น 3 ร่าง นอกจากนี้ยังพบนาฬิกาข้อมืออีกหนึ่งชิ้น ดังนั้นเมื่อปฏิบัติงานตามแผนคาดว่าจะพบผู้สูญหายมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับโซนที่พบร่างผู้ประสบภัยมากที่สุดคือ โซนบันไดหนีไฟข้างปล่องลิฟท์ ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 24 เม.ย. 68 เวลา 18.00 น. ผู้ประสบภัย 103 ราย เสียชีวิต 60 ราย บาดเจ็บ 9 ราย ติดค้าง 34 ราย
นอกจากนี้ มีคำเตือนจากทีมแพทย์เรื่องของอากาศร้อนและฝุ่น PM10 จากการรื้อซากอาคาร ก็ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ต้องสวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นในการทำงานตลอดเวลา ส่วนเรื่องอากาศร้อนเรามีการฉีดพ่นน้ำเพื่อลดฝุ่นในการก่อสร้างตลอดเวลา ซึ่งการฉีดน้ำจะเป็นละอองฝอยน้ำจึงทำให้ลดอุณหภูมิความร้อนในพื้นที่ไปได้ด้วย จึงยังไม่มีรายงานเรื่องเจ้าหน้าที่เป็นโรคเกี่ยวกับอากาศร้อน
สำหรับการทำงานในภาพรวมยังไม่มีอุปสรรคติดขัดแต่อย่างใดและเมื่อเกิดเหตุเสียหายของเครื่องจักรก็จะมีทีมจากทางอิตาเลียน-ไทย ทหารช่าง และ กองโรงงานช่างกล กทม. เข้าซ่อมแซมแก้ไขเครื่องจักรให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง อาจจะยกเว้นในกรณีที่ต้องรออะไหล่ซึ่งต้องรอข้ามวัน ก็ต้องแก้ปัญหาหน้างานเป็นกรณีไป
กำชับ โยธา 50 เขต ทำความเข้าใจประชาชนปมหลักเกณฑ์เงินช่วยเหลือแผ่นดินไหว
วันเดียวกันนี้ (25 เม.ย. 68) เวลา 10.00 น. นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมข้อราชการฝ่ายโยธา 50 เขต โดยมี นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสักนักการโยธา พร้อมผู้บริหารสำนักการโยธา ผู้แทนสำนักนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนสำนักดิจิทัลกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าฝ่ายโยธา 50 สำนักงานเขต ร่วมประชุม ณ ณ ห้องประชุม โยธา 1 ชั้น 6 อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง โดยที่ประชุมได้หารือข้อราชการ ประกอบด้วย
1. การพิจารณาอนุญาตการก่อสร้างป้ายโฆษณาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้มีการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณก่อสร้างป้ายโฆษณาฯ พ.ศ. 2567 ซึ่งข้อบัญญัติดังกล่าวได้มีการแก้ไขบริเวณที่สามารถก่อสร้างป้ายได้ สำนักการโยธาจึงได้ซักซ้อมแนวทางการพิจารณาอนุญาตและอำนาจของสำนักงานเขตในการอนุญาตก่อสร้างป้ายโฆษณา ซึ่งรองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตพิจารณาการก่อสร้างให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติฉบับใหม่ของกรุงเทพมหานคร
2. การตรวจสอบความเสียหายอาคารจากเหตุแผ่นดินไหว และแนวทางในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนยื่นขอรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก ซึ่งตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำกำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือตามที่ได้รับความเสียหายจริง ไม่เกินหลังละ 49,500 บาท แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากมีความเข้าใจคาดเคลื่อนเกี่ยวกับจำนวนเงินช่วยเหลือที่จะได้รับ จึงขอให้สำนักงานเขตทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือให้ประชาชนได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานเขตเร่งรัดการตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างเร็วที่สุดและเป็นไปตามกรอบระยะเวลา
3. การขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน อาคารออนไลน์ผ่านระบบ BMA OSS ที่กรุงเทพมหานครได้เปิดให้ประชาชนสามารถยื่นออนไลน์ได้ โดยสำนักการโยธาและสำนักดิจิทัลกรุงเทพมหานครได้มีการชี้แจงและทำความเข้าใจในการพิจารณาอนุญาตออนไลน์ ทั้งนี้ รองปลัดกรุงเทพมหานครได้กำขับให้ทุกสำนักงานเขตประชาสัมพันธ์และพิจารณาการออกใบอนุญาตต่างๆ ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด