อาจารย์คณะแพทย์ มช. เตือน "น้ำตกรับเสด็จ" ปนเปื้อนเชื้ออีโคไล
อาจารย์คณะแพทย์ มช. เตือน น้ำตกรับเสด็จ บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ตรวจพบเชื้ออีโคไล อย่านำมาล้างหน้า หรือดื่มกิน อาจจะทำให้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ
จากกรณีที่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Rungsrit Kanjanavanit เตือนเกี่ยวกับ น้ำตกรับเสด็จ น้ำตกขนาดเล็กบริเวณก่อนถึงโค้งขุนกัณฑ์ เส้นทางขึ้นดอยสุเทพ ว่าเป็นน้ำตกที่มีค่าของปริมาณ เชื้ออีโคไล (E.coli) ปนเปื้อนสูงจึงขอเตือนอย่านำน้ำจากน้ำตกมาล้างหน้า เพราะอาจจะทำให้ป่วยได้
โดยภายในโพสต์ระบุข้อความว่า “น้ำตก อีโคไล E.coli waterfall เวลา เราขับรถขึ้นดอยสุเทพ ใกล้จุดชมวิว ก่อนถึงโค้งขุนกัณฑ์ สักเล็กน้อยจะมีน้ำตกน่ารักๆ อยู่ข้างทางซ้ายมือ ผมมักเห็น นักท่องเที่ยว นักวิ่ง นักปั่น ที่เหนื่อยล้า แวะพัก รับความสดชื่นจากน้ำตก บ้างกวักน้ำมาล้างหน้า บ้างก็รองมือดื่มกิน ผมอยากจะเตือนว่า ไม่นานมานี้ มีการสำรวจเก็บตัวอย่างน้ำ จากลำห้วยต่างๆบนดอยสุเทพพบว่า น้ำตกแห่งนี้ เป็นจุดที่มีค่าของปริมาณ E.coli ปนเปื้อนสูงที่สุด E.coliเป็นแบคทีเรียที่มาจาก อุจจาระก็คงไม่น่าแปลกใจอะไรนะครับ
เพราะเหนือน้ำตกนี้ขึ้นไป คือ ชุมชนขนาดใหญ่ ร้านค้านับร้อย รองรับ นักท่องเที่ยว ที่มาวัดพระธาตุดอยสุเทพ นับหมื่นคน ต่อวันโดยไม่มีระบบจัดการน้ำเสียที่จริงจัง ของเสีย สิ่งปฏิกูล ถูกทิ้งลงทางน้ำธรรมชาติ น้ำตกนี้ มีคนตั้งชื่อว่า” น้ำตกรับเสด็จ” บางปี ก็เอาดอกไม้สีสวยๆมาประดับดูภายนอกก็สวยดี แต่เนื้อในนั้น… ผมไม่แน่ใจว่า หน่วยงานใด เป็นผู้ต้องเข้ามารับผิดชอบแก้ไข มันเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่เราปล่อยให้ ลำธารธรรมชาติเสียหาย เละเทะแบบนี้ มานานนับปี
ขอฝากเตือนไว้ สำหรับผู้ผ่านทาง และนักวิ่ง นักปั่นทุกท่านอย่าเอาน้ำตกเย็นๆ ตรงนี้ มาล้างหน้ากัน แทนที่จะได้ความสดชื่นเดี๋ยวจะไม่สบายเอาครับ
ล่าสุด วันนี้ (15 ส.ค.65) นพ.รังสฤษฎ์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ น้ำตกรับเสด็จ อีกครั้ง เกี่ยวกับประเด็นที่มีคนแย้งข้อมูลในเรื่องอันตรายของเชื้ออีโคไลว่าไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ โดยระบุข้อความว่า หลังจาก ผมให้ข้อมูลเรื่อง น้ำตก อีโคไลมีคนออกมาแย้งว่าE.coli ไม่ใช่เชื้อก่อโรค ไม่เป็นอันตรายกับคนคือ อันนั้นถูกต้องครับ โดยทั่วไป E coli ไม่ใช่เชื้อก่อโรคโดยตรง จะมีบางสายพันธุ์เท่านั้น (EHEC) ที่เป็นอันตราย เกิดลำไส้อักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แต่พบไม่บ่อย
แต่การมี E.coli ในปริมาณสูง(กรณี น้ำตกรับเสร็จนี้ คือ 92,000 โคโลนี ต่อ น้ำ 100 ml - โดยมาตราฐานน้ำใช้ ต้องไม่เกิน 126 , มาตราฐานน้ำดื่ม = 0) มันเป็นตัวชี้วัดว่า มีการปนเปื้อนจากอุจจาระ มนุษย์หรือสัตว์ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคอื่นๆ ปะปน (ที่เราไม่ได้ตรวจวัด) เช่น แบคทีเรียลำไส้อักเสบ salmonella shigella โปรโตซัว Giardia หรือ ไวรัส ตับอักเสบ A เป็นต้น ได้ครับทแต่ถ้าเป็นแนวสาวกพระบิดา ก็คงรับได้กับ E.coli ครับ
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้ไปเห็นงานวิจัยที่พบว่า น้ำตกรับเสด็จ มีเชื้ออีโคไลปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่สูง โดยตนเห็นผู้ที่ผ่าน น้ำตกรับเสด็จมักจะ เข้าไปเล่นน้ำจากน้ำตกรับเสด็จ หรือนำน้ำจากจุดนั้นมาล้างหน้า ซึ่งตนมองว่าคนเหล่านั้นอาจจะไม่ทราบว่าน้ำมีการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไล ตนจึงออกมาโพสต์เพื่อแจ้งเตือน
หากพบเชื้ออีโคไลแสดงว่ามีการปนเปื้อนน้ำจากส้วม โดยตัวเชื้ออีโคไรไม่ได้ก่อโรคมากนัก แต่หากมาจากอุจจาระที่ผู้ขับถ่ายป่วยก็อาจจะโรคติดมาด้วย ดังนั้นการพบเชื้ออีโคไลก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีเชื้อโรคชนิดอื่น ๆได้ด้วย โดยทั่วไปเชื้ออีโคไลจะทำให้ท้องเสีย แต่จะอันตรายมาก สำหรับผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
นพ.รังสฤษฎ์ ยังกล่าวอีกว่า เราไม่ควรปล่อยให้ลำน้ำธรรมชาติมีการเน่าเสีย หรือการปนเปื้อน ซึ่งด้านบนของน้ำตกแห่งนี้จะมีชุมชนและร้านค้าอยู่กว่า 100 หลัง ไม่ใช่เพียงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่ต้องเข้ามาดูแล แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบของประชาชน และชุมชนด้วย