4 สาเหตุขึ้นค่า Ft ดูชัดๆ เดือน ก.ย. ใช้เท่าเดิมต้องเสีย "ค่าไฟ" เพิ่มเท่าไหร่
ดูชัดๆ ใช้เท่าเดิมต้องเสีย "ค่าไฟ" เพิ่มเท่าไหร่ เริ่ม ก.ย.2565 นี้ นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ. ยังได้เปิด 4 สาเหตุหลักของการขึ้นค่า Ft
สาเหตุหลักของการขึ้นค่าเอฟที (ค่า Ft)
สำนักงาน กกพ. เปิด 4 สาเหตุหลักของการขึ้นค่าเอฟที (ค่า Ft) โดยในช่วงเดือนกันยายน 2565 นี้ซึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประกาศขึ้นค่าเอฟที 68.66 สตางค์ต่อหน่วย
ส่งผลให้งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 รวมเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมกับ "ค่าไฟฐาน" จะทำให้ค่าไฟจะทำสถิติสูงที่สุดคือ 4.72 บาทต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ 4 บาท นั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ขึ้น ‘ค่าไฟ-ค่าแรง-ดอกเบี้ย’ หุ้นไหนได้ประโยชน์?
- ส่องมาตรการ 4 เดือนสุดท้ายปี 65 อุ้มค่าไฟ-พลังงานกลุ่มเปราะบาง
สาเหตุของการขึ้นค่าเอฟทีในช่วงปี 2565-2566 สำนักงาน กกพ. ได้ยก 4 เหตุผลหลักๆ ดังนี้
1.ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลงจากเดิม
ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริมหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาด แต่ในช่วง สงครามรัสเซีย - ยูเครน ส่งผลให้ราคา Spot LNG มีราคาแพงและผันผวน ดังนั้นการทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมันจะส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
2.การผลิตก๊าซจากเมียนมาผลิตไม่ได้ตามกำลังเดิม
เมียนมาที่ไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิมและมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566
3.สถานการณ์ผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุน
อันเนื่องมาจากมีความต้องการใช้พลังงานน้อยในช่วงโควิด-19 แต่หลังจากที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากโควิดทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG
4.สภาวะสงครามรัสเซีย - ยูเครน
สงครามรัสเซีย - ยูเครน ทำให้รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป ทำให้ความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรปและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย
ใช้ไฟเท่าเดิมต้องเสียเพิ่มเท่าไหร่?
ตัวอย่างรีวิว "ค่าไฟฟ้า" เฉลี่ย (บ้าน/หน่วย) จากการปรับค่า Ft ในเดือนกันยายน - ธันวาคม 2565 เทียบกับค่า Ft ปัจจุบันของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย 22.590 ล้านราย
- ครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วย
จะเห็นว่า ในส่วนของครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วย (เฉลี่ย 72 หน่วย/ราย/เดือน) แต่ก่อนค่าไฟต่อหน่วยอยู่ที่ 3.70 บาท เพิ่มมาเป็น 4.38 บาท จะทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นจาก 264 บาท เป็น 313 บาท
- ครัวเรือนที่ใช้ไฟเกิน 150 หน่วย
ในส่วนของครัวเรือนที่ใช้ไฟเกิน 150 หน่วย (เฉลี่ย 332 หน่วย/ราย/เดือน) แต่ก่อนค่าไฟต่อหน่วยอยู่ที่ 4.28 บาท เพิ่มมาเป็น 4.96 บาท จะทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นจาก 1,418 บาท เป็น 1,645 บาท