เตือน "น้ำทะเลหนุนสูง" 24-29 ส.ค. 65 เช็ก 23 จว.เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน
กอนช. แจ้งเฝ้าระวัง "น้ำทะเลหนุนสูง" บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา - ป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงวันที่ 24 - 29 ส.ค.65 นี้ จับตา "อ่างเก็บน้ำ" 9 แห่ง น้ำสูงกว่าเกณฑ์
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2565 โดยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง
ขณะที่ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สุโขทัย (91 มม.) จ.กระบี่ (56 มม.) และ จ.ยโสธร (49 มม.)
พร้อมแจ้งเฝ้าระวัง "น้ำทะเลหนุนสูง" ในช่วงวันที่ 24 - 29 สิงหาคม 2565 นี้ บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง
กอนช. ประกาศเฝ้าระวัง "น้ำทะเลหนุนสูง" บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงวันที่ 24 - 29 สิงหาคม 2565 เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก จะทำให้มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,500-1,800 ลบ.ม./วินาที
และเขื่อนพระรามหก มีน้ำไหลผ่านในเกณฑ์ 400-500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงวันที่ 24 - 29 สิงหาคม 2565 ประมาณ 1.90 - 2.20 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
กอนช.ยังประกาศเตือนให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน
บริเวณ จ.เชียงราย, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, น่าน, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, อุตรดิตถ์, ตาก, กาฬสินธุ์, นครพนม, บึงกาฬ, สกลนคร, หนองคาย, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, ชัยภูมิ, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, นราธิวาส, ปัตตานี และยะลา
ส่วน แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วน "แม่น้ำโขง" มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำทุกขนาด 50,736 ล้าน ลบ.ม. (62%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 44,180 ล้าน ลบ.ม. (62%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ
เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่
แม่งัด, กิ่วคอหมา, กิ่วลม, แควน้อย, ป่าสักชลสิทธิ์, อุบลรัตน์, น้ำพุง, หนองปลาไหล และบึงบระเพ็ด
ซึ่งก่อนหน้านี้ กอนช. ได้แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 22 - 25 สิงหาคม 2565 โดยมีพื้นที่บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชน ดังนี้
1. ลุ่มน้ำป่าสัก เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำป่าสัก บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ คาดการณ์ระดับน้ำจะสูงกว่าตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำป่าสักประมาณ 0.60 เมตร
2. ลุ่มน้ำชี เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี และชัยภูมิ
3. ลุ่มน้ำมูล เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับ "สภาพอากาศวันนี้" ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
อนึ่ง พายุโซนร้อน "หมาอ๊อน" (MA-ON) บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในช่วงวันที่ 23 - 25 สิงหาคม 2565 และเคลื่อนขึ้นฝั่งด้านตะวันออกของประเทศจีนตอนใต้ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือนภัยล่าสุดวันนี้(23 สิงหาคม 2565) เวลา 08.00 น. พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง มีดังต่อนี้
ภาคเหนือ
- ลำปาง (อ.เมืองฯ อ.เมืองปาน อ.เกาะคา)
- แพร่ (อ.เมืองฯ อ.ร้องกวาง)
- พิษณุโลก (อ.นครไทย อ.ชาติตระการ)
- เพชรบูรณ์ (อ.หล่มเก่า อ.หล่มสัก)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- อุดรธานี (อ.เมืองฯ)
- ขอนแก่น (อ.แวงน้อย)
- มหาสารคาม (อ.เมืองฯ)
- ร้อยเอ็ด (อ.เสลภูมิ)
- อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ)
ภาคกลาง
- อ่างทอง (อ.ป่าโมก อ.วิเศษชัยชาญ)
- พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล อ.บางไทร อ.บางปะหัน)
- ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี)
ทั้งนี้ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อุบัติภัยจากไฟฟ้า และเพิ่มความระมัดระวังการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านทาง