สังคมไทยก้าวสู่สังคมชนชั้นกลางสมบูรณ์แล้วเราได้อะไร | อมร วาณิชวิวัฒน์ 

สังคมไทยก้าวสู่สังคมชนชั้นกลางสมบูรณ์แล้วเราได้อะไร | อมร วาณิชวิวัฒน์ 

เป็นคำถามที่มีลูกศิษย์ในชั้นเรียนได้ตั้งคำถามในวิชาเกี่ยวกับ ความเป็นธรรมในสังคมไทย ผมมีคำตอบและได้อธิบายให้กับนักศึกษาในชั้นเรียนขณะที่ได้สอนวิชานี้ ให้ได้คิดและกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แตกฉานยิ่งขึ้น

จะว่าไปแล้วความสำเร็จที่รัฐบาลพยายามประสานกับกระทรวงมหาดไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดนำนโยบายไปปฎิบัติกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการประโคมข่าวว่า ประชาชนคนไทยของเราพ้นเส้นความยากจนเป็นที่เรียบร้อย

ส่วนตัวมองเป็นข่าวที่น่ายินดีหากการขยับสถานภาพการเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างที่สมัยผมเรียนหนังสือเคยฟังคุณครูผู้สอนได้ย้ำว่า ประเทศไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีรายได้มาจากแหล่งใดบ้างทั้งการนำเข้าส่งออก

เรียกว่า ความสำเร็จเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ หากการพัฒนาสามารถผลักดันให้คนไทยส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจเทียบชั้นได้กับประเทศพัฒนาแล้วโดยทั่วไป

แต่สิ่งที่อาจยังคงมีการตั้งคำถาม คือ เรามีคนรวยในสัดส่วนประชากรที่ได้ดุลกันกับปัญหาทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นหรือสวนทางกัน นั่นคือ หากมีคนรวยเพิ่มมากขึ้นแล้วปัญหาสังคมลดลง ตรงนี้น่าจะเป็นดัชนีชี้วัดที่น่าจะยกย่องว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งยวดได้มากกว่าการเพิ่มคนรวยแต่ปัญหาก็เพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กัน


เวลานี้เมื่อเราดูการแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของไทย จะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละคนจะมีทรัพย์สินรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท (2.5 ล้านเหรียญ) ซึ่งถามว่าเงินจำนวนนี้มากหรือน้อย

ถ้าเป็นของสังคมเราเงินจำนวนนี้ ก็น่าจะเป็นเงินที่สามารถซื้อหาความสุขความสบายให้กับตนเองและสมาชิกในครอบครัวในช่วงอายุขัยหรือ generation หนึ่งได้โดยไม่เดือดร้อน ซึ่งสามารถอยู่อาศัยในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร ในเมืองที่ค่าครองชีพไม่สูงมากได้อย่างสบาย

ขณะที่เรามีมหาเศรษฐีติดอันดับต้นๆ ของทวีปเอเซียอยู่หลายคน ที่มีเงินเข้าขั้นหลักสามสี่แสนล้านบาท (trillion dollars) ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดสนใจและได้รับการมองจากภายนอกว่าเป็นดินแดนแห่งโอกาส ส่วนโอกาสที่ว่าจะเปิดกว้างหรือแคบประการใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผมมีเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจเคยปรารภให้ฟังตั้งแต่เรายังไม่ได้ยินชื่อเสียงของเศรษฐีนิรนามหลายคนที่มาเปิดตัวหรือเรามารู้จักเมื่อเขาเหล่านั้นบริจาคให้สาธารณกุศล โดยเพื่อนผมที่ว่าเป็นนักบริหารอยู่ในบริษัทสินค้าอุปโภคยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยองค์กรหนึ่ง

เธอบอกกับผมว่า อาจารย์อย่าคิดว่าคนแก่ๆ ที่เดินไปเดินมาตามถนน ห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งกำลังออกกำลังกายในสวนสาธารณะ ดูไปก็เป็นเหมือนคนแก่ทั่วๆ ไปที่เราเห็นชินตา

แต่เธอบอกกับผมว่า ลูกค้าหรือห้างร้านที่ทำการค้าทำธุรกิจกับบริษัทของเธอส่วนใหญ่ดูเผินๆ เขาไม่แสดงตัวว่าเป็นคนมีเงินมีทองอะไร แต่เวลาสั่งซื้อสินค้า หรือทำยอดขายให้กับบริษัทของเขาบางแห่งเป็นหลักหลายร้อยล้านหรือหลักพันล้านบาทก็มี แสดงว่าเงินทุนหมุนเวียนของคนเหล่านี้ค่อนข้างสูงมาก

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นคนที่เราไม่คุ้นชื่อกระทั่งเขาบริจาคเงินสามร้อยล้านบาท เพื่อให้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจของประเทศไทย ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรมาถ่ายทอดฟรีในเมืองไทยให้คนไทยได้ชมกัน

อย่างเจ้าของบริษัทรองเท้า แอโรซอฟท์ ของคนในตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่เราอาจคุ้นชื่อ คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะนักการเมืองหลายสมัย แต่เราอาจไม่เคยได้ยินชื่อ คุณ โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการบริษัทแอโรซอฟท์มาก่อนเลย

เช่นเดียวกับล่าสุดที่ บริษัท ฮาตาริ ผู้ผลิตพัดลมชื่อดังทั้งไทยและในภูมิภาคเอเซียของเรา โดยคุณ จุน วนวิทย์ บริจาคเงินเพื่อการกุศลให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นจำนวน 900 ล้านบาท

เพื่อนผมอีกคนที่เป็นกรรมการมูลนิธิสาธารณกุศลแห่งหนึ่ง ได้ยืนยันกับผมว่า สิ่งที่พวกเราเห็นในข่าวนั้นเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะประสบการณ์ของเขาที่รับบริจาคจากคนไทยเชื้อสายจีนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา บางคนบริจาคสามสี่สิบล้าน ร้อยล้าน แบบไม่ประสงค์ออกนามหรือไม่ต้องการเป็นข่าวอยู่เป็นประจำ

นั่นย่อมเป็นประจักษ์พยานสำคัญว่า ประเทศไทยของเราอาจร่ำรวยมานานมากแล้ว แต่ความเหลื่อมล้ำวันนี้อาจแคบลงหรือกว้างขึ้นสุดแต่มุมมองของแต่ละปัจเจกชนจะพิจารณา ทำให้สิ่งที่ผมอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในวันนี้ของสังคมไทยที่เราอาจยินดีกับคุณ สารัชถ์ รัตนาวะดี ที่ขยับขึ้นเป็นอภิมหาเศรษฐีของประเทศแซงหน้า คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ครองแชมป์อย่างยาวนาน

และในอนาคตเราคงได้เห็นคนอื่นๆ ที่เราอาจไม่เคยได้ยินชื่อก้าวขึ้นมาแทนที่คุณสารัชถ์ต่อไป แต่สิ่งที่รัฐบาลและผู้บริหารประเทศต้องตอบคำถามให้ได้นั่นเป็นว่า การเพิ่มจำนวนคนที่ร่ำรวยอย่างมากมาย กระทั่งเรากล้าประกาศว่าวันนี้เราพ้นเส้นความยากจนไปนานแล้วนั้น

ปัญหาสังคมที่ดูเหมือนยังพอกพูนกัดกร่อนสังคมเราเช่นการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหายาเสพติดโจรผู้ร้าย เราจะทำให้มันสวนทางกับความสามารถในการพัฒนาของเรานี้ได้อย่างไร.