ใช้ "ฝายแม่ยม" หน่วงมวลน้ำ ส่งผล แพร่-สุโขทัย รอดน้ำท่วม

ใช้ "ฝายแม่ยม" หน่วงมวลน้ำ ส่งผล แพร่-สุโขทัย รอดน้ำท่วม

แพร่ใช้วิธีหน่วงมวลน้ำให้ฝายแม่ยมชะลอมวลน้ำ 300-400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีให้กักอยูในฝายแม่ยมที่ปรับปรุงความจุเพิ่มขึ้นเสร็จเมื่อ กรกฎาคม 2565 ถือเป็นครั้งแรกในการแก้ไขปัญหามวลน้ำเข้าท่วม จังหวัดแพร่และจังหวัดสุโขทัย ในฤดูน้ำหลาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ได้มีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันทำให้ประมาณน้ำในลำน้ำแม่ยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเวลา 10.00 น. วันเดียวกันระดับมวลน้ำวัดได้ที่สถานีวัดน้ำ ห้วยสัก อ.สอง จ.แพร่ วัดได้ที่ 1,245 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีระดับน้ำสูงถึง 9.65 เมตร และยังพบว่ามวลน้ำจะเดินทางถึงเขตอำเภอเมืองแพร่ และเทศบาลเมืองแพร่ ในเช้าวันที่ 23 สิงหาคม 2565 และเดินทางถึงจังหวัดสุโขทัย ในเช้าวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยระดับน้ำที่มากกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทะลักเข้าท่วมในเขตเทศบาลเมืองแพร่อย่างแน่นอนแต่ปรากฏว่า ทางฝายแม่ยม อ.สอง จ.แพร่ ที่ควบคุมโดย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม ได้ใช้วิธีการ หน่วงมวลน้ำให้เดินทางไปยัง อำเภอเมืองแพร่ และ จังหวัดสุโขทัยให้มีปริมาณต่ำกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้ทั้งจังหวัดแพร่ และสุโขทัยสามารถควบคุมสถานการณ์น้ำท่วมได้
 

ล่าสุด วันนี้ (24 ส.ค. 65) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายจีรศักดิ์ ปัญญาดิษวงศ์ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2565 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม ได้ประชุมติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำในลำน้ำแม่ยม ที่ขณะนั้นมีระดับน้ำอยู่ที่ 600-700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดว่า น่าจะขึ้นไปไม่น้อยกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 เนื่องจากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทางฝายแม่ยมจึงได้ดำเนินการพร่องน้ำหน้าฝายเมื่อวันที่ 21 ช่วงเวลา11 .00-12.00 น. และ ทยอยปล่อยน้ำลงไปสู่ด้านหลังฝายไหลเข้าสู่เขตอำเภอเมืองแพร่ ในวันที่ 23 สิงหาคมและวันที่ 24 สิงหาคม 2565 มวลน้ำดังกล่าวจะเดินทางถึงจังหวัดสุโขทัย

ในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ฝายแม่ยมได้มีการทยอยปล่อยน้ำออกจากแม่ยมครั้งละ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้มวลน้ำไปถึง อำเภอเมืองแพร่ และ จังหวัดสุโขทัย ต่ำกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือเป็นครั้งแรกที่ ฝายแม่ยมสามารถ หน่วงมวลน้ำได้ถึง 300-400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากได้มีการปรับปรุงฝายแม่ยมมาตั้งแต่ 2562 เสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ทำให้สามารถจากการเก็บน้ำเดิมได้1.5-2 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ได้เพิ่มเป็น 3.2- 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นครั้งแรกที่เราทำได้ และความสูงของสันฝาย จาก 7.5 เมตร เพิ่มเป็น 8.5 เมตร เราหน่วงมวลน้ำไปเรื่อยๆทำให้มวลน้ำ หายไป 300-400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้สถานการณ์น้ำควบคุมได้ทั้งที่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ และจังหวัดสุโขทัย

ทางเรามีความพอใจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้แต่ว่าเป็นครั้งแรกก็ถือว่ายังไม่สมบูรณ์แต่ก็สามารถควบคุมสถานการณ์น้ำท่วมไม่ให้ท่วมจังหวัดแพร่ และจังหวัดสุโขทัยได้ วนจะมีมวลน้ำไหลเข้าท่วมตามริมฝั่งน้ำยม หรือตามร่องน้ำถือเป็นปรกติในฤดูน้ำหลาก ในส่วนมวลน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนไร่น่าของชาวบ้านเรายังไม่ได้รับรายงานแต่อย่างใด