ภาษีความหวานกับประเด็นที่ควรทบทวน | สุรินรัตน์ แก้วทอง
น้ำตาลเป็นอาหารที่ส่งผลร้ายกับสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งยังนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ที่ภาครัฐจะต้องจัดสรรมาเพื่อจัดทำบริการสาธารณะเกี่ยวกับการรักษาโรค ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคน้ำตาล ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี
รัฐบาลในหลายประเทศพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริโภคน้ำตาล โดยหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำกฎหมายมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ สหราชอาณาจักร โดยผ่านการเก็บ “ภาษีความหวาน” ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลในทางสถิติจะเห็นได้ว่าการจัดเก็บภาษีความหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมน้ำหวาน ทำให้การบริโภคน้ำอัดลมลดลงเกือบ 6,500 แคลอรีต่อผู้บริโภคหนึ่งคนต่อปี
เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเก็บภาษีความหวานส่งผลต่อการลดการบริโภคน้ำตาล ก็เนื่องจากการที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลพยายามปรับตัวโดยปรับลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลง รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ที่ลดการพึ่งพาน้ำตาล เพื่อให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มไม่ต้องแบกรับภาระทางด้านภาษี
สหราชอาณาจักรได้ประกาศใช้ภาษีความหวาน หรือภาษีน้ำอัดลมทั่วประเทศในเดือน มี.ค. 2559 และมีผลใช้บังคับในเดือน เม.ย. 2561 ทั้งนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าว กำหนดให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล ต้องมีภาระทางภาษีในการจ่ายภาษี 18 เพนนีต่อลิตรสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 5 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรขึ้นไป (ประมาณ 8 บาทต่อ 100 มิลลิลิตร) และหากเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ผู้ผลิตจะต้องจ่าย 24 เพนนีต่อลิตร (ประมาณ 10 บาทต่อ 100 มิลลิลิตร)
จะเห็นได้ว่า ภาษีความหวานที่เก็บจากเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล เพิ่มต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มค่อนข้างมาก ทำให้ส่งผลต่อการขายสินค้าที่อาจจะต้องเพิ่มราคาสินค้าและทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าลดลง
ดังนั้น แนวทางที่ผู้ผลิตสินค้าจะทำได้ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาของภาษีความหวานดังกล่าวได้ คือ การปรับปรุงสินค้าให้ลดปริมาณน้ำตาล ซึ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภคโดยตรง
ผลของการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในสหราชอาณาจักร ทำให้เครื่องดื่มกว่า 100 แบรนด์มีการปรับลดปริมาณน้ำตาลจนเหลือเพียงไม่เกิน 4 กรัม ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลที่ใช้ผสมลงไปในเครื่องดื่มของทั้งประเทศลงได้ถึงประมาณ 3 ใน 4 หรืออาจกล่าวได้ว่ามาตรการภาษีความหวานของสหราชอาณาจักร มีผลเพียงพอในการปรับโครงสร้างการบริโภคน้ำตาลในประเทศ
เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า กฎหมายดังกล่าวได้เว้นช่วงระยะเวลาให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวก่อนมีการใช้บังคับภาษีความหวานเป็นเวลาถึง 2 ปี ซึ่งเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการปฏิรูปเครื่องดื่ม ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำตาลในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ประมาณการว่าผู้ผลิตประมาณ 80% ได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าผลิตภัณฑ์ในช่วงเวลาก่อนมีการใช้บังคับของกฎหมายดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงคือ มาตรการทางด้านภาษีดังกล่าวจะต้องมีประสิทธิภาพเพียงพอในการผลักดันให้ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนให้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด มีปริมาณน้ำตาลที่ลดลง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลของผู้บริโภคอยู่ในตัว
เมื่อนำมาตรการของสหราชอาณาจักรมาใช้เปรียบเทียบกับการเก็บภาษีความหวานของประเทศไทย จะเห็นได้ว่ากรมสรรพสามิตได้ออกมาตรการในการเก็บภาษีความหวานมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในระยะที่หนึ่งและระยะที่สอง ส่วนระยะที่สาม มีการเลื่อนบังคับใช้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2565
ที่ทำให้เครื่องดื่มส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำตาลโดยเฉลี่ย 10 กรัม ถึง 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรต้องเสียภาษีตามปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้เครื่องดื่มปรับราคาสูงขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
เมื่อพิจารณาภาษีความหวานที่ประกาศใช้ในระยะที่ 3 ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 ถึง 30 ก.ย. 2567 กำหนดให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรได้รับยกเว้นเก็บภาษี ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 6-8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรจะเสียภาษีเพิ่มเป็น 0.30 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 3 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 5 บาทต่อลิตร
ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ภาษีความหวานของประเทศไทยแม้จะประกาศใช้เป็นระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะที่มีการเรียกเก็บภาษีความหวานสูงที่สุด แต่ดูเหมือนว่าอาจยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของสหราชอาณาจักรจะเห็นได้ชัดว่ามาตรการทางภาษีที่มีความรุนแรงและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ สำหรับการเพิ่มต้นทุนและผลักดัน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม
เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยอาจต้องพิจารณาทบทวนเพิ่มภาษีความหวานเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถจัดเก็บกับผู้ประกอบการให้เพิ่มขึ้นและจะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลดลงโดยการปรับตัวของผู้ผลิต
นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่าภาษีน้ำตาลไม่ควรจำกัดแต่เพียงเฉพาะเครื่องดื่มที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไป แต่ควรต้องหมายความรวมถึงเครื่องดื่มทุกชนิด และควรขยายขอบเขตไปยังอาหารที่มีความหวานที่เกิดขึ้นจากการที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ที่จะต้องมีภาระในการเสียภาษีความหวานเช่นเดียวกับเครื่องดื่ม
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การใช้น้ำตาลสำหรับประกอบอาหารมีปริมาณลดลงเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้บริโภคนั้นเอง