จัด "โซนนิ่ง" ช่วยเกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิต สร้างมูลค่ากำไรในพื้นที่ 51 จังหวัด

จัด "โซนนิ่ง" ช่วยเกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิต สร้างมูลค่ากำไรในพื้นที่ 51 จังหวัด

สศก. โชว์ผลจัด "โซนนิ่ง" ช่วยเกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิต สร้างมูลค่ากำไร 27 ล้านบาท ในพื้นที่ 51 จังหวัด

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) หรือ โซนนิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) หรือไม่เหมาะสม (N) ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีศักยภาพและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าชนิดเดิม โดยโครงการดังกล่าว มีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และมีหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานในพื้นที่ อาทิ การถ่ายทอดความรู้ การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืช พันธุ์ปลา ปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ อาหารและอุปกรณ์สำหรับเลี้ยงปลา รวมถึงการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และเงินอุดหนุนปัจจัยการผลิตสำหรับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 

จัด \"โซนนิ่ง\" ช่วยเกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิต สร้างมูลค่ากำไรในพื้นที่ 51 จังหวัด

 

ในการนี้ สศก. ได้ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 95,000 ไร่ ผลการดำเนินโครงการฯ ในปี 2564 พบว่า ได้รับการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม 98,305 ไร่ (ร้อยละ 103 ของเป้าหมาย) รวม 51 จังหวัด เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 8,985 ราย โดยส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนจากข้าวนาปี เป็นการเลี้ยงปลา ปลูกหม่อน และเกษตรผสมผสาน ผักสวนครัว สมุนไพร ร่วมกับการปลูกข้าว หรือไม้ผล และไม้ยืนต้น 

ผลจากที่เกษตรกร ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ในฤดูการผลิต ปี 2564/65 ส่งผลให้มีพื้นที่สร้างผลผลิตสินค้าเกษตรได้แล้ว ร้อยละ 55 เช่น  ปลาตะเพียน ปลานิล หม่อน พืชอายุสั้นหรือพืชผักสวนครัว เช่น กล้วย ตะไคร้ พริก ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว มะเขือ เป็นต้น ที่เหลือยังอยู่ในช่วงทยอยเก็บเกี่ยวและยังไม่ได้รับผลผลิตเนื่องจากเป็นการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน มะยงชิด พุทรา มะม่วง ขนุน มะนาว น้อยหน่า ฝรั่ง ลำไย เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปีขึ้นไป จึงจะให้ผลผลิต สามารถสร้างผลตอบแทนให้เกษตรกรได้เฉลี่ย 8,744 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 3,258 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวนาปี 2563/64 จำนวน 2,591 บาทต่อไร่ โดยเมื่อจำแนกผลตอบแทนสุทธิตามกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนได้ พบว่า ปลา สามารถสร้างผลตอบแทนสุทธิเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,178 บาทต่อไร่  หม่อนไหม เพิ่มขึ้น 2,827 บาทต่อไร่ เกษตรผสมผสาน เพิ่มขึ้น 2,932 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ หากคิดเป็นภาพรวมโครงการทั้ง 51 จังหวัด รวมพื้นที่ 98,305 ไร่ (ไม่รวมไม้ผล ไม้ยืนต้น) สามารถสร้างผลตอบแทนสุทธิ รวม 27 ล้านบาท และคาดว่าในปีงบประมาณ 2565 จะสามารถสร้างผลตอบแทนสุทธิได้รวมถึง 49 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินโครงการ ปี 2565 มีเป้าหมาย พื้นที่รวม 71,735 ไร่ จำแนกเป็นกิจกรรมปรับโครงสร้างพื้นที่การผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป้าหมาย 67,590 ไร่ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต 4,145 ไร่ ผลการติดตามการดำเนินงานรอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2564 - มิถุนายน 2565) พบว่า มีการปรับโครงสร้างพื้นที่การผลิตที่ไม่เหมาะสมแล้ว 65,685 ไร่ (ร้อยละ 97 ของเป้าหมาย 67,590 ไร่) สนับสนุนพันธุ์พืช พันธุ์ปลา รวมถึงปัจจัยการผลิตพื้นฐานเพื่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่ของเกษตรกรแล้ว 2,652 ไร่ (ร้อยละ 64 ของเป้าหมาย 4,145 ไร่) และดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เป้าหมาย 3,145 ราย ซึ่งเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกพืชชนิดใหม่ และการอบรมบัญชีต้นทุนอาชีพ รวม 3,135 ราย (ร้อยละ 99 ของเป้าหมาย 3,145 ราย) และจากผลการสำรวจเบื้องต้น ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และลพบุรี พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับสถานีพัฒนาที่ดิน ร้อยละ 38 ได้รับการสนับสนุนการปรับโครงสร้างพื้นที่และปัจจัยการผลิตสำหรับการปรับเปลี่ยน เช่น วัสดุสำหรับการทำปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งเกษตรกรร้อยละ 50 เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการผลิตแล้ว 

ทั้งนี้ ภาพรวมการโครงการที่ผ่านมา เกษตรกรพอใจในระดับมากที่สุด เนื่องจากได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นที่ สามารถกักเก็บน้ำหรือทำเกษตรผสมผสาน ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เกิดรายได้เสริม และลดค่าอาหารในครัวเรือนได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเกษตรกรบางส่วน ที่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนการผลิตเต็มพื้นที่ เนื่องจากมีพื้นที่ถือครองน้อย จึงยังคงพื้นที่เพื่อปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน รวมทั้งยังมีเกษตรกรบางรายที่ยังเคยชินกับการปลูกข้าวมานาน และไม่มีทุนในการปรับเปลี่ยนการผลิต ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร รวมถึงให้การสนับสนุนเกษตรกร โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น แหล่งน้ำ รวมถึงปัจจัยการผลิต และสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ต่อการปรับเปลี่ยนการผลิตให้เหมาะสมในพื้นที่