เปิดโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร เครื่องมือเนวิเกเตอร์ภาคเกษตร ยุคดิจิทัล
สศก. จัดสัมมนาใหญ่ เปิดตัว “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร” โชว์ผลงาน Open Data 5 ระบบ อีกหนึ่งเครื่องมือเนวิเกเตอร์ภาคเกษตร ยุคดิจิทัล
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โชว์ผลสำเร็จขับเคลื่อน Big Data ภาคเกษตร มอบหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จัดสัมมนาใหญ่ เปิดตัว “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร” โชว์ผลงาน พัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบ Open Data พร้อมวางกลยุทธ์ Road map ต่อยอด 3 ระยะ ปฏิรูปภาคเกษตรไทยก้าวสู่ Digital Transformation โดยวางเป้าหมายให้บริการแบบ citizen centric
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดงานสัมมนา “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร” ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ว่า จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายมุ่งไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Thailand 4.0) โดยจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย สศก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ร่วมกัน 10 กระทรวง และขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2562 เพื่อให้เกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าถึงระบบการให้บริการและสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผน การผลิต และการตลาด
ล่าสุด สศก. ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร” เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล สำหรับจัดเก็บ และบริการข้อมูลทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง จากหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือระหว่าง 10 กระทรวง ซึ่งเป็นการรวบรวมชุดข้อมูล (Datasets) จากการสำรวจ นำมาจัดทำเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร และวิเคราะห์ในมิติต่าง ๆ เปิดบริการ Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้สนใจ ใช้ข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร มีการพัฒนาระบบงาน 5 ระบบ คือ 1) ระบบการบูรณาการข้อมูลและจัดทำรายงาน 2) ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) 3) ระบบปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร 4) ระบบ Coaching Program Platform (CPP) และ 5) ระบบ Public AI ตลอดจนปรับปรุงการให้บริการ ข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการเกษตร แก่หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกร
“การสัมมนาเปิดตัวโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตรในวันนี้ สศก. มีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และนำเสนอผลสำเร็จในการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา พร้อมทั้งสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งหารือแนวทางต่อยอดความร่วมมือในอนาคตร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรฯ ที่ MOU ร่วมกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่า ผลสำเร็จของโครงการฯ จะเป็นประโยชน์แก่ เกษตรกร ภาครัฐ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดโซ่อุปทานการผลิต ทำให้มีข้อมูลคาดการณ์ผลผลิตที่แม่นยำ สามารถนำไปใช้วางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ สศก. ในฐานะเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตรดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือเนวิเกเตอร์ ที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถเชิงดิจิทัล ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และแม่นยำ” เลขาธิการ สศก. กล่าว
การขับเคลื่อน Big Data ภาคเกษตร ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดการและเชื่อมโยงในระดับแปลง เกษตรกร และพื้นที่ มีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในทุกระดับ โดยสร้าง Platform เก็บข้อมูลที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น เช่น การใช้ Mobile Technology เพื่อให้ได้ฐานข้อมูล Big Data ภาคเกษตรที่แม่นยำ รวดเร็ว ต่อเนื่องในทุกฤดูปลูก นอกจากนี้ ยังมี Web Tool และ Mobile Application ในการประมวลผลข้อมูลจาก Big Data เพื่อวางแผนเชิงพื้นที่ วางนโยบาย และเผยแพร่สู่ทุกภาคส่วนอย่างเข้าใจง่าย
โดยปัจจุบัน สศก. ได้พัฒนาระบบและจัดทำเป็นฐานข้อมูลด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร เปิดบริการ Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้สนใจ ใช้ข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ผ่านเว็บไซด์ nabc-catalog.oae.go.th รวบรวมชุดข้อมูล กว่า 734 ชุด จาก 90 หน่วยงาน โดยจัดแบ่งกลุ่มข้อมูล 17 กลุ่ม
ประกอบด้วย 1) กลุ่มข้อมูลด้านแผนงาน/งบประมาณ 2) กลุ่มข้อมูลด้านเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร 3) กลุ่มข้อมูลด้านดินและที่ดิน 4) กลุ่มข้อมูลด้านแหล่งน้ำและการชลประทาน 5) กลุ่มข้อมูลด้านภัยธรรมชาติ 6) กลุ่มข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7) กลุ่มข้อมูลด้านการเพาะปลูกพืช 8) กลุ่มข้อมูลด้านการทำปศุสัตว์ 9) กลุ่มข้อมูลด้านการทำประมง 10) กลุ่มข้อมูลด้านสินเชื่อและแหล่งเงินทุน 11) กลุ่มข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการตลาด 12) กลุ่มข้อมูลด้านโลจิสติกส์ การขนส่ง และแหล่งรับซื้อ 13) กลุ่มข้อมูลด้านราคา 14) กลุ่มข้อมูลด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานการผลิตและสินค้าเกษตร 15) กลุ่มข้อมูลด้านงานวิจัยและองค์ความรู้ 16) กลุ่มข้อมูลด้านปัจจัยการผลิต และ 17) กลุ่มข้อมูลด้านแผนที่และข้อมูลเชิงแผนที่
สำหรับแผนการขับเคลื่อน Big Data หลังจากนี้ สศก. โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ได้วาง Road map 3 ระยะ คือ ระยะ 1 Short Term (พ.ศ. 2566 – 2567) มีฐานข้อมูลกลางในการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น Internal Data, External Data, Partner Data, Customer Data ซึ่งข้อมูลทั้งหมดต้องมีความถูกต้อง สมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน โดยบุคลากรของหน่วยงาน จะมีทักษะการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ หรือตัดสินใจกันบนข้อมูลที่มีประโยชน์ สามารถแบ่งปันผลลัพธ์ที่ได้และปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดให้ดีขึ้น ระยะ 2 Medium Term (พ.ศ. 2568 -2569) จัดทำการให้บริการในการเข้าถึงข้อมูลแบบเปิด (Open Access) เพื่อให้เกษตรเข้าถึง ค้นหา แจกจ่ายข้อมูลต่อได้แบบเรียลไทม์ มีการจัดทำการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) การเกษตร และ ระยะ 3 Long Term (พ.ศ. 2570) เปิดให้บริการข้อมูลในรูปแบบ Personalization Driven ทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลในระดับรายบุคคล รวมถึงข้อมูลสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลนั้น ๆ มีการนำเสนอข้อมูล/บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในลักษณะ proactive ในทิศทางของ Hyper Automation
ทั้งนี้ การสัมมนาโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร จัดโดย ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) ซึ่งภายในงานมีการบรรยาย หัวข้อ “การใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลการเกษตร” โดย นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร การบรรยายเกี่ยวกับ Update Technology หัวข้อ “แนวทางและนโยบายด้านการใช้ประโยชน์ของข้อมูลในระดับประเทศที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) รับผิดชอบ” โดย ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และการเสวนา หัวข้อ “การเรียนรู้สมัยใหม่ Immersive Media & Trends” โดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ปรึกษา (Advisor) สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ ดร.สุทธิศักดิ์ อินทวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงบูธนิทรรศการ นำเสนอผลการดำเนินงานทั้ง 5 ระบบของโครงการฯ อาทิ การจัดแสดงระบบ Big Data เพื่อคาดการณ์ผลผลิตและวิเคราะห์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เชิงพื้นที่ของประเทศไทยในภาพรวมและรายพืชไร่ 10 ชนิด ระบบบันทึกและนำเข้าข้อมูลปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหาร ระบบ Web Application และ Mobile Application ที่ประกอบด้วย ฟังก์ชั่นการวาดแปลงและระบุพื้นที่ทำการเกษตรเป็นจุดพิกัดแผนที่ ฟังก์ชั่นการให้คำแนะนำสนับสนุนการตัดสินใจเลือกกิจกรรมทางเกษตรของยางพารา ข้าว ปลานิล และโคขุน รวมไปถึงบูธแสดงองค์ความรู้ด้านการทำเกษตร ที่จัดทำในรูปแบบ Augmented Reality (AR) Virtual Reality (VR) ผนวกกับการสาธิตการใช้งานสื่อในรูปแบบ Mixed Reality ด้วยอุปกรณ์ HoloLens ในองค์ความรู้ต่าง เช่น GAP ระบบเกษตรอัจฉริยะ : การแปลงเพศปลานิลและโรงเรือนอัจฉริยะ การทำสวนทุเรียนด้วย Smart Sensor และ IoT และแปลงนาสาธิต เป็นต้น