วว. มุ่งมั่นในการเป็นองค์กรชั้นนำระดับอาเซียนด้านวิจัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วว. มุ่งมั่นในการเป็นองค์กรชั้นนำระดับอาเซียนด้านวิจัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. กำลังจะครบรอบ 60 ปี ในปี 2566 ถือเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงความมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรชั้นนำระดับอาเซียน ด้านวิจัย พัฒนา และบริการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย วว. เปิดเผยว่า ในฐานะที่ วว. เป็นองค์กรวิจัยพัฒนา จึงมุ่งให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยพัฒนาที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ผ่านการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการทำงาน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ โดยอยู่บนฐานของทรัพยากรชีวภาพ (Bio-based) เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจฐานราก ชุมชน และประชาชนเชิงพื้นที่ (Area based) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำ

ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายด้าน ได้แก่ 

1) การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านระบบนิเวศในระดับนานาชาติ โดยสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช (สสส.) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการรับรองจาก UNESCO ภายใต้โครงการ Man and Biosphere Program : MAB ให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลกและแห่งแรกของประเทศไทย โดยบทบาท 3 ประการ ได้แก่ ด้านการอนุรักษ์ (Conservation) ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic development) และด้านการสนับสนุนด้านวิชาการและการศึกษา (Logistic support) 
 

2) การสร้างสรรค์ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การแสวงหาโอกาสในการค้า การลงทุน ตลอดจนการต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมกับประเทศที่มีศักยภาพในภูมิภาคต่างๆ วว. ได้สร้างความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นโอกาสสร้างการรับรู้ให้ วว. เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นในเวทีโลก เช่น โครงการภายใต้ APEC Policy Partnership on Science, Technology and Innovation (PPSTI) โดยมี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็น Thailand focal point และหน่วยงานจัดสรรทุนสนับสนุนให้ วว. เป็นผู้ดำเนินโครงการ 

3) การเป็นผู้แทนภูมิภาคในระดับนานาชาติ ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่มาจากทั่วทุกมุมโลก เช่น การได้รับคัดเลือกเป็น Thailand Focal Point on ASEAN Sub-Committee on Food Science and Technology (SCFST), Horizon Europe National Contact Point (NCP) ร่วมถึงเป็น Focal Point ในองค์กรระดับนานาชาติ World Association of Industrial and Technological Research Organizations (WAITRO) เหล่านี้เป็นปัจจัยส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยต่างประเทศมากขึ้น และมีโอกาสในการพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกับเครือข่ายวิจัยทั่วโลก อาทิ EU Green Deal, Horizon Europe, WAITRO Innovation Award เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไม่ใช่แต่ในประเทศแต่กระจายไปสู่นอกภูมิภาค 
 

4) การทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือร่วมกับภาคีนานาชาติ เพื่อพัฒนาศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถ และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล ผลของการดำเนินกิจกรรมยังส่งผลให้ วว. ขยายเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น มีโอกาสผลักดันนักวิจัยเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ แนวคิดการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ให้กลับมาสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานเชิงประจักษ์ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตลอด 60 ปี ของการดำเนินงานที่ผ่านมา สถาบันวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสู่การเป็นองค์กรที่เติบโต เปี่ยมด้วยศักยภาพ และพร้อมรับพลวัตรการเปลี่ยนแปลง สู่การเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จกับผู้ประกอบการ SMEs และเศรษฐกิจไทยด้วยการวิจัย วิทยศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดสังคมนวัตกรรมอย่างยั่งยืน