ขยายผล 'แหนแดง' เป็นปุ๋ยพืชสด ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตเกษตรกร
"กรมวิชาการเกษตร" ร่วมกับ "กรมส่งเสริมการเกษตร" จัดทำโครงการขยายผลการผลิต "แหนแดง" เป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตเกษตรกร
"แหนแดง" เป็นแหล่งผลิตธาตุไนโตรเจนที่ดี เนื่องจากมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Cyanobacteria) ที่อยู่ในโพรงใบ ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาสร้างเป็นปุ๋ย ทำให้แหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูงถึง 4-5% ของน้ำหนักแห้ง สามารถนำมาใช้เป็น ปุ๋ยพืชสด ในนาข้าวได้เป็นอย่างดี
สำหรับประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร ได้เริ่มศึกษาประสิทธิภาพของแหนแดงตั้งแต่ปี 2520 พบว่า การปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยพืชสด (แหนแดง) ในช่วงก่อนปักดำ สามารถให้ผลผลิตข้าวได้เทียบเท่ากับการใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 10.5 กิโลกรัมต่อไร่ จึงได้นำสายพันธุ์แหนแดงจากต่างประเทศมาคัดเลือกพันธุ์และนำมาทดลองใช้ประโยชน์พบว่า แหนแดงสายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า โดยแหนแดงที่เจริญเติบโตบนผิวน้ำในนาข้าว 1 ไร่ จะให้ผลผลิตถึง 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถเพิ่มน้ำหนักเป็น 2 เท่า ได้ในระยะเวลาเพียง 2-3 วัน ให้ไนโตรเจนได้ประมาณ 6-7.5 กิโลกรัมต่อไร่
ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากประโยชน์ของ แหนแดง ทาง กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำโครงการขยายผลการผลิตแหนแดง เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ สามารถผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล
สำหรับแนวทางการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว จะนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด ประกอบไปด้วย สระบุรี สมุทรสงคราม ระยอง กาฬสินธุ์ สุรินทร์ พังงา พัทลุง กำแพงเพชร และพะเยา รวมจำนวน 323 ราย โดย กรมวิชาการเกษตร จะส่งมอบเทคโนโลยีการผลิตและใช้ แหนแดง เพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร ให้กับ กรมส่งเสริมการเกษตร และเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างการรับรู้โครงการฯ และดำเนินการจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและใช้ประโยชน์จากแหนแดงให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายต่อไป