ปิดฉากความสำเร็จกับงานประชุมนานาชาติ SYMPOSIUM 2023
ปิดฉากความสำเร็จกับงานประชุมนานาชาติ SYMPOSIUM 2023 กระตุ้นผู้ประกอบการไทยนำองค์กรสู่ความยั่งยืน ตอบรับเทรนด์โลจิสติกส์โลก
ปัจจุบันธุรกิจทั่วโลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทรนด์ของการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจโลจิสติกส์ ทาง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดงาน Symposium 2023 งานประชุมวิชาการนานาชาติ ภายใต้แนวคิด "Sustainable Logistics : Smart and Green" เพื่อเป็นเวทีแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากกูรูไทยและต่างประเทศ เกี่ยวกับเทรนด์ ธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อความยั่งยืน ตลอดจนแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในยุคที่เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง
ในการประชุมนานาชาติครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้ทราบถึงแนวทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน และแนวทางการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินงาน เพื่อปรับตัวและพัฒนาองค์กรในการรับมือกับการเปลี่ยนของธุรกิจโลก รวมถึงการรับมือกับมาตรการ CBAM ของอียูที่จะประกาศใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
หัวข้อแรกของการบรรยายคือ การนำ Smart & Green ไปใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยนายอับดุลลา อัลสุไวดี ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายฮับและพันธมิตร และนายมามู้ด อัล บาสตากี ผู้จัดการทั่วไป จากเดอะ เวิลด์ โลจิสติกส์ พาสปอร์ต (WLP) ซึ่งเป็นหน่วยงานโลจิสติกส์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่โดดเด่นในการให้บริการขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation)
ผู้เชี่ยวชาญจาก WLP ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ กรีนโลจิสติกส์ โดยยกตัวอย่างของ DP World ที่ได้นำโซลูชันเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้กับท่าเรือใน 6 ทวีปทั่วโลก ทำให้ประสิทธิภาพการขนส่งเพิ่มขึ้น ลดเวลาการจอดคอยของพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง ลดการใช้เชื้อเพลิง ส่งผลให้การปล่อยคาร์บอนในอากาศลดลง
DP world มุ่งที่จะเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน โดยกำหนดกลยุทธ์ที่จะช่วยลดผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการลดคาร์บอน ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยตัวอย่างของเทคโนโลยีที่สามารถนำมาพัฒนาประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ให้เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ WLP, DUBUY, DFALLIANCE และ CARGOES
สำหรับหัวข้อต่อมาคือ วิธีการที่ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (LSPs) ในประเทศอาเซียนปรับตัวและก้าวไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ชาญฉลาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บรรยายโดยนายอัลวิน ฉั่ว เซ็ง วา นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของมาเลเซีย (FMFF)
นายอัลวิน เปิดเผยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เนื่องจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียนเป็น SMEs ประมาณร้อยละ 80 ส่งผลให้การพัฒนาด้านกรีนโลจิสติกส์ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับดูแลด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จัดตั้งโดยสมาพันธ์ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าแห่งอาเซียน (AFFA) ย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียนจะต้องปรับตัวและพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กัน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
นายอัลวิน ยังกล่าวถึงมาตรการทางภาษีคาร์บอน หรือ CBAM ว่าจะมีผลบังคับใช้สำหรับสินค้าที่ส่งไปจำหน่ายในอียูตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 โดยช่วงแรกบังคับใช้กับสินค้าปูน เหล็ก อลูมิเนียม ปุ๋ย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในปริมาณมากในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น และอาจกระทบกับผู้ผลิตวัตถุดิบที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายในยุโรป เพราะอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาด หากไม่สามารถปรับตัวให้พร้อมรับมือกับกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายอับดุลลา อัลสุไวดี นายมามู้ด อัล บาสตากี นายอัลวิน ฉั่ว เซ็ง วา และนายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับรางวัลผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศ ด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ประจำปี 2559 และ 2562 ยังได้ร่วมกันอภิปรายในหัวข้อ "โอกาสและความท้าทายของธุรกิจโลจิสติกส์กับเทรนด์อนาคตและมาตรการ CBAM"
นายเกตติวิทย์ ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน และการปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับกฎข้อบังคับของอียู ยังเป็นการสร้างมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร ในทางกลับกันหากไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ สุดท้ายอาจสูญเสียคู่ค้าไปในที่สุด อย่างไรก็ตามในประเทศไทย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ส่วนใหญ่เป็น SMEs การจะปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านตัวแทนจากดูไบ กล่าวถึงความท้าทายในการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนว่ามี 3 ปัจจัย ได้แก่ การไม่บังคับใช้กฎเกณฑ์อย่างจริงจัง ธรรมชาติของคนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ พนักงาน และผู้นำองค์กรมีหน้าที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดความตระหนักรู้ภายในองค์กร และปัจจัยสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุดคือ เงินลงทุน
เมื่อองค์กรมีการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วจะสร้างโอกาสมากมาย เช่น การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถตรวจสอบติดตามสถานะได้อย่างชัดเจนในทุกขั้นตอน สุขภาพของประชาชนในภาพรวมดีขึ้น สิ่งแวดล้อมสะอาดขึ้น ที่สำคัญเป็นการสร้างโอกาสในการเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ และสร้างเครือข่ายกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายอัลวิน ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียนส่วนใหญ่กำลังเผชิญ ได้แก่ ระบบพิธีการศุลกากรของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบเทคโนโลยี เนื่องจากแต่ละประเทศในอาเซียนใช้ระบบพิธีการศุลกากรไม่เหมือนกัน แตกต่างจากอียูที่ใช้ระบบพิธีการศุลกากรร่วมกัน ทำให้การขนส่งสินค้าเกิดความล่าช้า อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น SMEs หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือลดขั้นตอนทางพิธีการฯ ได้ ด้วยเหตุนี้ประเทศในอาเซียนจึงมีความพยายามที่จะสร้าง ASEAN Single Window (ASW) เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานด้านพิธีการศุลกากรของแต่ละประเทศไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ ผู้ร่วมอภิปรายได้กล่าวถึงมาตรการ CBAM ว่า หากพิจารณาสินค้าที่บังคับใช้มาตรการ เช่น ปูน เหล็ก อลูมิเนียม ปุ๋ย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาจยังไม่ส่งผลกระทบกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียน แต่ในฐานะผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ถ้าสามารถพัฒนาระบบการขนส่งของตนเองให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จะเป็นการช่วยลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมอภิปรายเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ CBAM จะขยายไปครอบคลุมสินค้าอื่นๆ ดังนั้น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ รวมถึงผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าจะต้องเริ่มปรับปรุงกระบวนการทำงาน ปรับเปลี่ยนวิธีการขนส่งสินค้าที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในอากาศ เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศต่อไป