‘ณัฐ ยนตรรักษ์’ จัดแสดงดนตรีรอบพิเศษ ‘50 Years of Legacy’
‘ณัฐ ยนตรรักษ์’ นักเปียโนมือวางอันดับหนึ่งของประเทศ ฉลองครบรอบ 50 ปี แห่งการสร้างสรรค์ผลงานดนตรี ‘50 Years of Legacy’ ณ ศาลาสุทธสิริโสภา
‘ณัฐ ยนตรรักษ์’ โลดแล่นอยู่ในวงการดนตรีที่เขารักมา 50 ปี ครั้งนี้ขอ จัดแสดงดนตรีรอบพิเศษ exclusive 50 Years of Legacy: A preview of 2024 celebration of Nat Yontararak’s 50 years of legacy โดย นักเปียโน มือวางอันดับหนึ่งของประเทศ ศิลปินร่วมสมัย รางวัลศิลปาธร สาขาคีตศิลป์ ประเทศไทย เพื่อฉลองครึ่งศตวรรษกับการสร้างผลงานการประพันธ์เพลงและบรรเลงเปียโนคลาสสิกให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับโลกตลอด 50 ปี ในการแสดงครั้งนี้เป็นการนำบทเพลง บุตรน้อยหลงหาย
ซึ่งเป็นการผสมผสานของศิลปะการแสดงพื้นบ้านลิเกจับคู่กับดนตรีคลาสสิก และเคยจัดแสดงมาแล้วทั่วยุโรปใน 6 ประเทศ 15 เมือง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงงดงาม สามารถทลายกำแพงทางภาษาผ่านท่วงทำนองของดนตรีถ่ายทอดวัฒนธรรมของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน
และยังเป็นการต่อยอด Soft Power ของไทยด้วยการนำเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไทยนำเสนอผ่านสื่อการแสดง และเนื้อหาที่คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ โดยงานแสดงในครั้งนี้มีผู้ชมเข้าร่วมสัมผัสประสบการณ์ของดนตรีคลาสสิกสุดพิเศษนี้อย่างคับคั่ง
ความพิเศษของบทเพลงลิเกจากเรื่อง บุตรน้อยหลงหาย นอกจากจะเป็นการนำเสนอเรื่องราวจากบทเรียนชีวิตเล่าถึงการให้อภัยในครอบครัวที่ได้รับการส่งต่อจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ลมากว่า 2,000 ปีทั่วโลก ยังเป็นการประพันธ์ร่วมกันระหว่าง ณัฐ ยนตรรักษ์ และ วูกัช คูเชดโว
ที่นำความโดดเด่นของทำนองลิเกที่คนไทยทุกคนคุ้นหูผสานกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตะโพนเครื่องดนตรีกำกับจังหวะของไทยร่วมกับเครื่องเคาะของดนตรีตะวันตกอีกหลากหลายชนิด ที่ดีไซน์ออกมาเพื่อตอกย้ำเสน่ห์ของความเป็นลิเกให้ชัดเจนขึ้นช่วยสร้างสุนทรีย์ให้กับการแสดงได้สมบูรณ์
“การแสดงในครั้งนี้ผู้ชมจะได้สัมผัสประสบการณ์ของ ดนตรีเล่าเรื่อง ที่ถ่ายทอดแก่นสารของเนื้อหาได้อย่างครบถ้วนทุกอรรถรสผ่านการบรรเลงเปียโนของผมและเทคนิคการดีไซน์เสียงด้วยตะโพนและเพอร์คัชชั่นของ วูกัช คูเชดโว โดยผ่านเรื่องราวที่เป็นที่รู้จักและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้ชมทั่วโลก
และการได้เห็นภาพของศิลปินไทยที่เล่นเครื่องดนตรีของตะวันตกอย่างเปียโน และศิลปินตะวันตกที่เล่นเครื่องดนตรีไทยอย่างตะโพน เป็นภาพที่หาดูได้ยาก และนี่คือการสานสัมพันธ์ทางดนตรีที่เห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรม เป็นภาพการแสดงที่มีเนื้อหาลึกซึ้งในทุกมิติที่มากกว่าความบันเทิง” ณัฐ ยนตรรักษ์ กล่าว
‘วูกัช คูเชดโว’
โดยการแสดงเพลงลิเก บุตรน้อยหลงหาย ในครั้งนี้ ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ผ่าน ผู้เข้าชมที่พร้อมใจกันร่วมชมการแสดงครั้งนี้เต็มทุกที่นั่งของ ศาลาสุทธสิริโสภา หอแสดงที่ออกแบบ โดย ณัฐ ยนตรรักษ์ อีกทั้งยังได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญจากหลากหลายวงการ
‘ณัฐ ยนตรรักษ์’ นักเปียโนระดับประเทศ
อาทิ รศ.ดร. กฤษติกา คงสมพงษ์ อดีตนายกสมาคมแม่บ้านทหารบก และอาจารย์ประจำสาขาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร. นริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน),
สงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จํากัด (มหาชน), ศรีวรา อิสสระ ประธานกรรมการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จํากัด (มหาชน), จิณัดดา ฉันทวานิช บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Fiercebook.com, ครูปาน-สมนึก คลังนอก ศิลปินวาดภาพประกอบชื่อดัง,ตัวแทนจากสถาบันดนตรียามาฮ่า, สถานเอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, สถาบันบางกอกแดนซ์ ฯลฯ
สงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จํากัด (มหาชน), ศรีวรา อิสสระ ประธานกรรมการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จํากัด (มหาชน)
นอกจากการแสดงสุดพิเศษ การจัดงานครั้งนี้ก็เพื่อร่วมฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 ของอาจารย์ณัฐ ในฐานะศิลปินร่วมสมัยศิลปาธร สาขาคีตศิลป์ ถูกยกย่องให้เป็นนักเปียโนชั้นครูของไทยเพียงหนึ่งเดียวในไทยที่ประพันธ์บทเพลงและบรรเลงเปียโนด้วยตัวเอง ตลอด 50 ปี บนเส้นทางดนตรี ณัฐ ยนตรรักษ์ ได้รับการยกย่องในเรื่องการประพันธ์ดนตรีที่ผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยกับการบรรเลงดนตรีคลาสสิกจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
อาทิ เพลงไก่แก้ว เป็นการประพันธ์ดนตรีในรูปแบบ variation โดยนำสุนทรียภาพของ ดนตรีไทยเดิม คงเอกลักษณ์ของทำนองหลัก ผสมผสานกับการเลียนบันไดเสียงแบบดนตรีไทยและเรียบเรียงทำนองให้เป็นดนตรีร่วมสมัยด้วยการบรรเลงเปียโน
นอกจากนี้ยังมีผลงานการประพันธ์บทเพลงเพื่อแสดงในโอกาสพิเศษต่างๆ อาทิ บทเพลงเปียโนโซนาต้าหมายเลข 2 ชื่อ ถวายบังคมนวมินทรราชา (Homage to H.M. King Rama the Ninth), บทเพลง สยามโซนาตา (Siam Sonata) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 75 พรรษา,
บทเพลง กุหลาบแห่งรัก (Rose of Love) ซึ่งประพันธ์เพื่อถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา, บทเพลงเปียโนโซนาต้า หมายเลข 1 มีชื่อว่า ถวายชัยคีตมหาราชา (Glory to Our Great Kings)
ตลอดเส้นทางดนตรีกว่าครึ่งศตวรรษ ‘ณัฐ ยนตรรักษ์’ ผลงานการประพันธ์เพลงกว่า 100 บทเพลง ไม่เพียงสร้างความสุขให้ผู้คนผ่านเสียงเปียโนผ่านการแสดงรอบโลกมากกว่า 1,000 การแสดง แต่การได้รับเชิญในฐานะตัวแทนประเทศไทยให้ไปทำการแสดงในที่ต่างๆ อาทิ สำนักงานใหญ่ขององค์กรสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์คในโอกาสครบรอบ 50 ปี ครองราชย์ของร. ๙ และ 50 ปี องค์กรสหประชาชาติ
โดยบทเพลง ที่เขานำไปแสดงนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงไทยและเป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเอง ไม่เพียงทำให้คนไทยที่ได้ฟังหายคิดถึงบ้านแล้วยังทำให้ชาวต่างชาติที่ได้ฟังเข้าใจวัฒนธรรมไทยได้ลึกซึ่งมากขึ้น
บางคนที่ได้ฟังเพลง ‘สยามโซนาต้า’ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากมาเยือนเมืองไทย หรือเมื่อได้ยินเพลง ‘หาที่สุดมิได้’ ก็ทำให้หลายคนถึงกับบอกว่าอยากใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตทีเมืองไทย บทเพลงและการแสดงทั่วโลกกว่า 16 ประเทศ ของ ที่ณัฐ ยนตรรักษ์ จึงทำหน้าที่มากกว่าการเป็นศิลปินระดับชาติ แต่ผลงานของเขายังถูกยกให้เป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
อย่างการประพันธ์เพลงที่ผสานความเป็นไทยผ่านบทเพลงโซนาต้า (บทเพลงใหญ่ในดนตรีคลาสิค) ถึง 3 บทเพลง จนได้ออกอัลบั้มกับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Marco Polo และได้รับความนิยมอย่างมาก ปัจจุบันนี้กลายเป็นแผ่นเสียงที่นักสะสมทั่วโลกต้องการ
ผลงานสร้างสรรค์กว่าครึ่งศตวรรษทั้งในประเทศและในต่างประเทศเป็นที่ประจักษ์จนได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์จากกระทรวงวัฒนธรรมของรัฐบาลโปแลนด์ในปี 2015 และจากประธานาธิบดีของอิตาลีในปี 2018 รวมถึงเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Steinway Artist รางวัลอันทรงเกียรติสำหรับนักเปียโนทั่วโลก
หลังสำเร็จการศึกษาจากระดับปริญญาโททางด้านการแสดงเปียโนที่ Reading University ณัฐ ยนตรรักษ์ กลับมาก่อตั้ง ณัฐ สตูดิโอ (Nat Studio) โรงเรียนสอนเปียโนให้กับเยาวชนและผู้สนใจ นับเป็นโรงเรียนสอนเปียโนที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ ก่อนจะขยับขยายพื้นที่ สร้างหอแสดงดนตรีหลังใหม่โดยใช้ชื่อว่า
‘ศาลาสุทธสิริโสภา’ ซึ่งเป็นการถวายเกียรติให้พระนามของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงอุปถัมภ์อาจารย์ณัฐในชีวิตทุกด้าน ทั้งการศึกษาด้านดนตรี การแต่งงาน และการก่อสร้างโรงเรียน
ลูกจันทน์ - พิณนรี ยนตรรักษ์ คูเชดโว ลูกสาวของ ณัฐ ยนตรรักษ์
“เราตั้งใจที่จะสร้างสถานที่แห่งนี้ให้เป็นคอมมูนิตี้ทางดนตรีที่แข็งแกร่ง และเปิดกว้างสำหรับทุกคน รวมทั้งเป็นสะพานเชื่อมต่อความเป็นไทยสู่เวทีระดับโลก ผ่านการนำเสนอศิลปินไทยที่สร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์ผ่านเพลงไทยร่วมสมัยในหลากหลายรูปแบบ
ศาลาสุทธสิริโสภา เป็นหอแสดงขนาดเล็กที่มี ความพร้อมในมาตราฐานทัดเทียมเวทีระดับโลก ด้วยที่มีระบบเสียงธรรมชาติ (acoustics) ที่ดีที่สุด ทำให้นักแสดงสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องขยายเสียง
จุดประสงค์หลักของสถานที่นี้คือการเฟ้นหานักดนตรีไทยที่มีความสามารถและสนับสนุนพวกเขาให้ได้แสดงศักยภาพสูงสุดบนเวทีของเราแล้วผลักดันให้ได้ไปต่อบนเวทีโลกผ่านเครือข่ายของเราที่สั่งสมมาผ่านคุณพ่อ [ณัฐ] ตลอด 50 ปี”
ลูกจันทน์ - พิณนรี ยนตรรักษ์ คูเชดโว ลูกสาวของ ณัฐ ยนตรรักษ์ และผู้อำนวยการ ศาลาสุทธศิริโสภา กล่าว
การแสดงครั้งนี้ จะต่อยอดไปสู่การจัดแสดง 2024 celebration of Nat Yontararak’s 50 years of legacy เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบผลงานระดับตำนานกว่าครึ่งศตวรรษของนักเปียโนระดับบรมครูของประเทศไทย 'ณัฐ ยนตรรักษ์’
ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2567 ตลอดทั้งปี เริ่มเปิดการแสดงแรกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567 และปิดท้ายซีรีส์ฉลองครบรอบ 50 ปี ในเดือนพฤศจิกายน และมีไฮไลท์สำคัญเป็นการแสดงครบรอบ 50 ปี
ในวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ที่ศาลาสุทธสิริโสภา โดยศิษย์เก่า หลายรุ่นของ อ.ณัฐ ที่จะมาแสดงเพลงที่ ‘ครู’ เป็นผู้ประพันธ์