20 ปีแห่งการปลูกป่ารักษาต้นน้ำลำปะทาว และทอดผ้าป่ารักษาภูหลง

20 ปีแห่งการปลูกป่ารักษาต้นน้ำลำปะทาว และทอดผ้าป่ารักษาภูหลง

"บางจาก" มุ่งสู่การเดินทางนานถึง 20 ปี กับความตั้งใจที่จะร่วมดูแลป่าและรักษาต้นน้ำในพื้นที่ภูหลง จ. ชัยภูมิ เพื่อดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการส่งต่อความใส่ใจในธรรมชาติให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

ในปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่ 40 ของการดำเนินธุรกิจของ บางจากฯ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 เป็นปีเดียวกัน กับที่กิจกรรม ทอดผ้าป่ารักษาต้นน้ำและปลูกป่าภูหลงของบางจากฯ ได้เดินทางมาถึงปีที่ 20 เป็นเวลา 2 ทศวรรษที่บางจากฯ ได้ร่วมกับชุมชนในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับธรรมชาติ โดยเริ่มจากความตั้งใจ 
เล็กๆ ในปี 2548 ที่จะดูแลป่าและรักษาต้นน้ำในพื้นที่ภูหลง จังหวัดชัยภูมิ และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหาร พนักงาน ผู้เกี่ยวข้องและชุมชนในพื้นที่ 

จุดเริ่มต้นของกิจกรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อผู้บริหารบางจากฯ ได้รู้จักกับ วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมี พระอธิการไพศาล วิสาโล เป็นเจ้าอาวาส พระอาจารย์ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดและเป็นศูนย์รวมใจของผู้คนในชุมชนในการดูแลรักษาป่าเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งคณะสงฆ์และผู้คนในพื้นที่ได้ทุ่มเทเวลาและแรงกายในการอนุรักษ์ป่าและดูแลพื้นที่ต้นน้ำในบริเวณป่าภูหลง ซึ่งเป็นป่าดิบเขาผืนสุดท้ายแห่งเทือกเขาภูแลนคา หนึ่งในป่าต้นน้ำของลำปะทาวที่หล่อเลี้ยงธรรมชาติและชีวิตของชาวชัยภูมิและพื้นที่ใกล้เคียง 

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของงานที่พระอาจารย์ทำ บางจากฯ จึงได้ริเริ่มกิจกรรมทอดผ้าป่า เพื่อระดมทุนสนับสนุนงานอนุรักษ์นี้ และในขณะเดียวกันก็ได้เริ่ม ปลูกป่า ในบริเวณรอบๆ วัดป่าสุคะโต เพื่อช่วยฟื้นฟูธรรมชาติในพื้นที่ จากกลุ่มพนักงานบางจากฯ กลุ่มเล็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในช่วงแรกๆ ในเวลาต่อมาก็มีผู้เข้าร่วมหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนในพื้นที่และรอบโรงกลั่นพระโขนง เพื่อนบ้านครอบครัวใบไม้ และผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันบางจากในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิและใกล้เคียง  

20 ปีแห่งการปลูกป่ารักษาต้นน้ำลำปะทาว และทอดผ้าป่ารักษาภูหลง

อย่างไรก็ดี ผืนป่าที่นี่ยังพบปัญหาการถูกบุกรุก การลักลอบจุดไฟเพื่อแผ้วถางทำลายจนลุกลามมายังผืนป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟป่าครั้งใหญ่เมื่อปี 2563 ทำให้มีการนำแนวพระราชดำริป่าเปียกมาใช้ ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า แนวคิดนี้เป็นทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้โดยใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างแนวป้องกันไฟเปียก รักษาความชุ่มชื้นของดิน ด้วยวิธีทางกลและวิธีทางพืช ได้แก่ การขุดร่องน้ำ ทำฝายเพื่อชะลอน้ำ และการปลูกพืชคลุมดิน การปลูกกล้วย เป็นต้น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นดินและป่าไม้ การรักษาความชุ่มชื้นในป่าไม่เพียงแค่ช่วยลดปัญหาไฟป่าในพื้นที่สูง แต่ยังช่วยให้ระบบนิเวศกลับมาสมดุลอีกครั้ง 

นอกจากการ ปลูกป่า แล้ว กิจกรรม ทอดผ้าป่า นี้ยังเป็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้มีส่วนร่วม ในการทำบุญและสร้างเสริมคุณค่าทางจิตใจ กิจกรรมนี้ได้สร้างความผูกพันระหว่างพนักงานบางจากฯ กับชุมชนในพื้นที่เป็นเวลาสองทศวรรษที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน ปลูกป่าร่วมกัน และเรียนรู้จากธรรมชาติร่วมกัน การมีส่วนร่วมนี้ไม่เพียงแค่ช่วยสร้างความสุขใจให้กับผู้เข้าร่วม แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 20 ของกิจกรรม ทอดผ้าป่า รักษาต้นน้ำและปลูกป่าภูหลง พระอธิการไพศาล วิสาโล ได้แสดงปาฐกถาธรรมในหัวข้อ "สมดุลธุรกิจกับโลกยั่งยืน" ให้กับผู้บริหารและพนักงาน กลุ่มบริษัทบางจาก เน้นถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่ไม่ละเลยธรรมชาติ โดยพระอาจารย์ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ว่าเราไม่สามารถแยกออกจากกันได้ มนุษย์และธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน พระอาจารย์ได้เน้นถึงความสำคัญของการรักษาสมดุลในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสมดุลระหว่างมูลค่าและคุณค่าของธุรกิจ หรือการรักษาสมดุลในการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ อย่ามุ่งไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนลืมคุณค่าของสิ่งอื่นๆ สำหรับองค์กรธุรกิจก็ต้องไม่เน้นทำแต่ผลกำไร ผลประกอบการ โดยลืมนึกถึงคุณค่าของการรักษาธรรมชาติ เราไม่ควรมุ่งแต่แข่งขันเป็นผู้ชนะ โดยขาดสามัญสำนึกที่จะดูแลคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ยิ่งในการดูแลรักษาธรรมชาติต้องอดทนรอ มองการณ์ไกล และใจกว้าง อย่ายึดติดลู่วิ่งการแข่งขัน อย่ายึดติดกับชัยชนะที่เย้ายวน อย่าละเลยสำนึกและคุณค่าด้านอื่นที่สำคัญเช่นกัน "อย่าให้การแข่งขัน ทำลายความเป็นมนุษย์ของเรา" จงรักษาความเป็นมนุษย์ ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม

เมื่อบางจากฯ กำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 5 ของการดำเนินธุรกิจ กิจกรรมนี้ยังคงเป็นเครื่องยืนยันถึงความตั้งใจของบริษัทฯ ที่จะร่วมมือกับชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเป็นการส่งต่อความใส่ใจในธรรมชาติให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

จากความตั้งใจเล็กๆ ในการร่วมกันดูแลป่าและรักษาต้นน้ำในพื้นที่ภูหลง จังหวัดชัยภูมิ สู่การเดินทางยาวนานถึง 20 ปี ความรัก ความศรัทธา และความผูกพันระหว่าง บางจากฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับธรรมชาติ มุ่งมั่นดูแล ฟื้นฟูป่าภูหลง ป่าต้นน้ำ เพื่อให้ ผืนป่า สมบูรณ์และอยู่คู่กับเมืองไทยตลอดไป

20 ปีแห่งการปลูกป่ารักษาต้นน้ำลำปะทาว และทอดผ้าป่ารักษาภูหลง