สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน TFAC’s Accounting Professions Summit 2024
สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานฉลองครบรอบ 20 ปี สถาปนาสภาวิชาชีพ TFAC’s Accounting Professions Summit 2024 ภายใต้หัวข้อ Accounting Professions in Disruptive World เมื่อวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติร่วมงานพร้อมขึ้นกล่าวปราศรัยสำคัญเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจโลก และกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Global Dynamics) ครอบคลุมประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาวิชาชีพบัญชี และความท้าทายที่ต้องรับมือในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นถึงการพัฒนาเศรษฐกิจไทยผ่านการสร้างความแข็งแกร่งให้วิชาชีพบัญชีในการสนับสนุนความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องให้นักบัญชีและภาคธุรกิจเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนใน 2 ประเด็น ดังนี้
ภาพอนาคตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
ภาพรวมเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันอยู่ในช่วงชะลอตัว ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับประเทศไทย การแบ่งค่ายทางความคิดของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออกที่ต่างกัน จึงนำมาสู่การแข่งขันที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย ผลกระทบจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนของโลก แต่ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะสามารถก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง คือการเป็นผู้ผลิตที่จำเป็นต่อโลกในแต่ละตลาดต่างๆ
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การผลิตและการลงทุนของประเทศมีปริมาณลดลงจาก 40% เหลือ 19% เพราะในช่วงก่อนนั้นมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ มีกระแสการลงทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์และโอกาสจากกรณีดังกล่าวเท่าที่ควร จึงทำให้รากฐานทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถเติบโตได้ดี ดังนั้นประเทศไทยสามารถใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด ผ่านวิธีการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศในการเป็นฐานการดำเนินงานให้กับอุตสาหกรรมต้นน้ำ อาทิ Cloud & AI, Data Center, ศูนย์วิจัยไบโอชีวภาพ, ศูนย์การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ การลงทุนต่างๆ นี้ทำให้เกิด Supply Chain ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ทำให้ขณะนี้ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศในเติบโตที่สุดเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้มีตัวเลขจากการลงทุนดังกล่าว 7 แสนกว่าล้าน และเมื่อรวมกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวเลขกว่า 2 ล้านล้าน ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องมุ่งเน้นเป็นอันดับแรกคือ การเตรียมความพร้อมและสร้างขีดความสามารถเรื่องบุคลากรในประเด็นดังกล่าวที่กำลังจะถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ อันดับที่สองคือการลดกระบวนการติดต่อประสานงานให้สะดวกและรวดเร็ว ลดขั้นตอน ลดงานเอกสารให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็น อันดับที่สามลดต้นทุนทางพลังงานและ Logistics ซึ่งพลังงานที่ใช้ ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ประเทศไทยถือว่ามีความสามารถและความพร้อมที่จะสร้างโอกาสจากความท้าทายให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น
บทบาทผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต่อการเกิดขึ้นของ AI และการปรับตัวที่ควรตระหนักถึง
การเกิดขึ้นของ AI เป็นผลพวงมาจากการเกิดขึ้นของการวิเคราะห์ วิจัย และประมวลผลจาก Big Data ซึ่งจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยง Data Center ของบริษัทระดับโลกในด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อมีข้อมูลที่มากขึ้นการวิเคราะห์ก็ยิ่งแม่นยำขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจในการดำเนินงานได้ดี ซึ่งแน่นอนว่าวิวัฒนาการของ AI กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง ในแง่ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีนั้นสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างมาก แต่ต้องปรับตัวก้าวให้ทันเทคโนโลยี รวมถึงทั้งเรื่องการแข่งขัน สภาพเศรษฐกิจ ซึ่งนั่นหมายความว่า เราไม่ควรที่จะรู้แค่เฉพาะเรื่องงานบัญชีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจภาพรวมและองค์ประกอบทั้งหมด เพื่อเชื่อมโยงทุกอย่าง ปรับกระบวนการทำงานให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ เพราะการบัญชีและเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง แต่การจะนำเครื่องมือมาใช้ทำงาน เราต้องเข้าใจทิศทางสภาพความเป็นไปที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ได้ จึงจะสามารถนำสิ่งต่างๆ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม