Sea (ประเทศไทย) เร่งปั้นทักษะดิจิทัลดึงศักยภาพคนไทยกว่า 2.8 ล้านคน

Sea (ประเทศไทย) เดินหน้าพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ยุคดิจิทัล เร่งปั้นทักษะดึงศักยภาพคนไทยกว่า 2.8 ล้านคน เสริมแกร่งเศรษฐกิจยุคใหม่
จากการเปลี่ยนผ่านสู่ เศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้ตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว World Economic Forum ชี้ว่า เทรนด์โลกที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานมากที่สุด คือ การขยายตัวของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ทักษะที่เป็นที่ต้องการของ ตลาดแรงงาน ตลอดจนพัฒนาการของสินค้าและบริการดิจิทัลต่างๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนในสังคมไทยปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มระดับโลกของ Garena, Shopee และ SeaMoney ได้ประกาศเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ยุคดิจิทัล เพื่อให้คนไทยสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ อีสปอร์ต, อีคอมเมิร์ซ และความรู้ทางการเงิน
นางพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า การพัฒนา แรงงานดิจิทัล ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นวาระสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม เราจึงตั้งใจใช้ศักยภาพแพลตฟอร์มของ Sea เป็นมากกว่าช่องทางบริการดิจิทัล แต่เป็น "พื้นที่แห่งการเรียนรู้" ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานได้พัฒนาทักษะสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเติบโตในโลกดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ ด้วยการปูรากฐานทักษะที่จำเป็นสำหรับ ยุคดิจิทัล ได้แก่ "นักเล่น" พัฒนา ทักษะดิจิทัล ผ่านอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต "นักขาย" เสริมศักยภาพผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ "นักจ่าย" ยกระดับความรู้ทางการเงินและการใช้บริการดิจิทัลเพย์เมนต์อย่างปลอดภัย โดยสร้างโอกาสให้คนไทยมีทักษะที่สามารถแข่งขันได้จริง อีกทั้งเราต้องการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่กระตุ้นให้เกิด Snowball Effect กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในระยะยาว
"นักเล่น" เปลี่ยนเกมเมอร์เป็นผู้เรียนรู้
Sea (ประเทศไทย) ที่เริ่มต้นจากธุรกิจเกมและอีสปอร์ตภายใต้ Garena ได้มองว่าอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงแค่ความบันเทิงอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และโอกาสทางอาชีพที่มีศักยภาพ เกมและอีสปอร์ตจึงกลายเป็นสื่อกลางการเรียนรู้ จากแนวคิดนี้ Sea จึงเปิดตัว Garena Academy โครงการที่ใช้เกมเป็นเครื่องมือพัฒนา ทักษะดิจิทัล ของเยาวชน โดยร่วมมือกับโรงเรียนและสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างหลักสูตร "ห้องเรียนอีสปอร์ต" ที่เปิดกว้างให้ครูและโรงเรียนนำไปใช้ได้อย่างอิสระ มุ่งพัฒนา "เกมเมอร์" เป็น "แรงงานดิจิทัลรุ่นใหม่" ที่มีศักยภาพ และเปิดโลกอาชีพใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการเกมและเทคโนโลยี เช่น นักพัฒนาเกม นักออกแบบเกม และผู้จัดการแข่งขันอีสปอร์ต ซึ่งปัจจุบันโครงการห้องเรียนอีสปอร์ตของการีนา เข้าถึงนักเรียนและครูกว่า 70,000 คน
"ไอเดียของเราคือการเปลี่ยน ‘นักเล่นเวลาเรียน’ ให้กลายเป็น ‘นักเรียนเวลาเล่น’ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่จะขึ้นได้ในพื้นที่ที่เยาวชนเปิดใจมากที่สุด โดยเรามุ่งตอบโจทย์ความท้าทายที่คอมมูนิตีเกมต้องเผชิญใน 3 มิติหลัก ได้แก่ การสร้างตัวตนและการยอมรับทางสังคม โดยสนับสนุนภาพลักษณ์เชิงบวกของวงการเกม พร้อมสร้างคอมมูนิตีที่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว โรงเรียน และเพื่อน, การเปิดมุมมองสู่โอกาสอาชีพ ที่ช่วยให้เยาวชนเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตในฐานะช่องทางสร้างรายได้ และการพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต ผ่านโครงการ Garena Academy ที่เชื่อมโยง ผู้เล่น ครู และสถาบันการศึกษา ให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมดิจิทัล" นางพุทธวรรณ กล่าวเสริม
ปั้น "นักขาย" เสริมแกร่งอีคอมเมิร์ซไทย ขยายโอกาสธุรกิจออนไลน์
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง Shopee แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Sea จึงไม่เพียงแต่เป็นช่องทางซื้อขายสินค้าออนไลน์ แต่ยังปลดล็อกโอกาสใหม่ให้ผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่ใช้อีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางหารายได้เสริม ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา พนักงานประจำ และแม่บ้าน โดยตั้งแต่ปี 2559 Shopee ได้เปิดตัวโครงการ Shopee University ซึ่งเป็นหลักสูตรให้ความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ค้าออนไลน์เพื่อสร้างโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอีคอมเมิร์ซ ครอบคลุมตั้งแต่การเริ่มต้นเปิดร้านค้าบนช้อปปี้ การใช้เครื่องมือต่างๆ บนแพลตฟอร์ม การสร้างแบรนด์ การทำตลาดดิจิทัล ไปจนถึงการบริหารการเงิน
จากการสำรวจหลังดำเนินธุรกิจในไทยได้ราว 5 ปี เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อสังคมก่อนและหลังการเข้ามาของ อีคอมเมิร์ซ พบว่า Shopee สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสเติบโตแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) โดยช่วยให้ผู้ค้าไทยสามารถส่งสินค้าข้ามจังหวัดเพิ่มขึ้นจาก 45% เป็น 81% พร้อมเปิดโอกาสให้ Hidden Entrepreneurs หรือกลุ่มที่ไม่ได้ทำธุรกิจเป็นอาชีพหลักสามารถมีรายได้เสริม ซึ่งในกลุ่มนี้ 75% เป็นผู้หญิง และ 58% ไม่ใช่ผู้หารายได้หลักของครอบครัว
นอกจากนี้ Shopee ยังร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ เช่น โครงการฝึกอบรมวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับกรมการค้าภายในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการหญิง (Women Made) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และโครงการพัฒนาทักษะเยาวชนผ่าน Equity Partnership’s School Network ของ กสศ. ตลอดจนการให้ความรู้ด้านการเงินสำหรับธุรกิจออนไลน์ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขยายโอกาสให้คนไทยทุกกลุ่ม ทั้งชุมชนและผู้หญิงสามารถใช้อีคอมเมิร์ซเป็นเครื่องมือสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยล่าสุดสามารถส่งเสริมทักษะผู้ประกอบการให้แก่กลุ่มนักเรียนและชุมชน ผ่านเครือข่ายโรงเรียน 15 โรง และ 10 เครือข่ายชุมชนใน 10 จังหวัด จากภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และใต้อีกด้วย
เสริมทักษะให้ "นักจ่าย" เข้าใจการวางแผนการเงิน
Sea (ประเทศไทย) ไม่ได้มองเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลแค่ในมิติของความสะดวกสบาย แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้าง "ภูมิคุ้มกันทางการเงิน" ให้กับผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในยุคที่คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็เผชิญกับปัญหาหนี้สินและภัยไซเบอร์มากขึ้นเช่นกัน Sea (ประเทศไทย) จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ทางการเงินเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้บริการดิจิทัลเพย์เมนต์ได้อย่างปลอดภัยและมีวินัยทางการเงิน โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตร ได้แก่ สถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ (IBGL), Wizard of Learning และโค้ชหนุ่ม Money Coach พัฒนาบอร์ดเกมการเงิน "Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน" เพื่อสอนแนวคิดการวางแผนการเงินให้กับเยาวชนผ่านกิจกรรมที่สนุกและเข้าใจง่าย โดยขยายผลผ่านเครือข่ายคุณครู โรงเรียน และพันธมิตรทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ยังพร้อมจัดอบรม Learning Facilitator เพื่อช่วยให้ครูสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้จากเกมสู่การใช้ชีวิตจริง ช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ทางการเงินและสามารถรับมือกับเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ ซึ่งในปีที่ผ่านมาบอร์ดเกมนี้สามารถเข้าถึงกลุ่มนักเรียนและครูได้กว่า 180,000 คน ทั่วประเทศผ่านเครือข่ายครู InsKru, ร้านบอร์ดเกม, TK Park, กรุงเทพมหานคร และโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย
"สุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงคือรากฐานสำคัญของชีวิต เราต้องการปลูกฝังให้เยาวชนไทยมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีตั้งแต่วัยเยาว์ เข้าใจการบริหารเงินส่วนบุคคล และสามารถตัดสินใจทางการเงินได้อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหนี้ในอนาคต" พุทธวรรณ กล่าวเพิ่มเติม
เครือข่ายพันธมิตร ขยายโอกาสการเรียนรู้สู่อนาคต
Sea ยังคงเดินหน้าขยายโอกาสการเรียนรู้สู่สังคม โดยร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน ทั้งมหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ กิจการเพื่อสังคม และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการกระจายความรู้และทักษะสู่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ซึ่งจากปีที่ผ่านมา Sea Academy และ Garena Academy ได้ส่งต่อองค์ความรู้ให้คนไทยกว่า 2.8 ล้านคน และเป้าหมายสำคัญในปี 2568 ของ Sea ยังคงอยู่ที่การส่งเสริมความรู้ใน 3 ด้านหลัก ทั้ง ทักษะดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ต ทักษะอีคอมเมิร์ซ และทักษะทางการเงิน เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนมีความพร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับ เศรษฐกิจดิจิทัล ได้ในระยะยาว