ในหลวง พระราชินี พระราชทานสิ่งของแก่ชาวเมียนมาประสบภัยจากพายุไซโคลน
ในหลวง พระราชินี โปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทาน มอบแก่เอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย เพื่อเชิญไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนที่พัดผ่านเมียนมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสิ่งของ แก่ประชาชนชาวเมียนมาที่ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
วันนี้ (22 พ.ค.66) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงติดตาม สถานการณ์พายุไซโคลนโมคา (Mocha) ที่ได้พัดผ่านรัฐยะไข่ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้บ้านเรือน และระบบสาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย ในหลายพื้นที่ รวมทั้งประชาชนชาวเมียนมาได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
ด้วยทรงมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดหาสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนชาวเมียนมา โดยในวันที่ 22 พฤษภาคม2566 เวลา 17.57 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทาน ประกอบด้วย เต้นท์นอน ผ้าห่มนโน ผ้าขนหนู ยาสามัญประจำบ้าน อาหารแห้ง และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นอื่นๆ ไปมอบแก่ อุซิซเว (U Chit Swve) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ณ โรงเก็บอากาสยาน ฝูงบิน 601 กองบิน 6 กองทัพอากาศ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยกองทัพอากาศเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งสิ่งของพระราชทานไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อนำไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนชาวเมียนมาผู้ประสบภัย
ในการนี้ สภากาชาดไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมบริจาคอาหารและสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีพ โดยกองทัพอากาศได้สนับสนุนเครื่องบินลำเลียง C-130 จำนวน 2 เครื่องและกำลังพล ในการเชิญสิ่งของพระราชทานและสิ่งของที่มีผู้ร่วมบริจาค ไปยังสนามบินย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อมอบแก่ผู้ประสบภัยต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พายุไซโคลนโมคา (Mocha) ซึ่งก่อตัวขึ้นในอ่าวเบงกอล เคลื่อนตัวเข้าพื้นที่ด้านตะวันตกของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาบริเวณรัฐยะไข่ โดยมีความเร็วลมที่จุดศูนย์กลางสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือว่ามีความรุนแรงเทียบเท่าพายุเฮอร์ริเคนระดับ 5 ส่งผลให้เกิดลมกรรโชกแรง พายุฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม กระแสไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ และเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมล้มทำให้มีอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร เป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและรัพย์สินของประชาชนเมียนมาในวงกว้าง