ในหลวง พระราชินีทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5
ในหลวง พระราชินี ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 และทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบ 150 ปี กรมศุลกากร 4 กรกฎาคม 2566 ณ อาคารที่ทำการกรมศุลกากร เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
วันนี้ (4 ก.ค.66) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังกรมศุลกากร ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบ 150 ปี กรมศุลกากร 4 กรกฎาคม 2566 ณ ลานหน้าอาคารที่ทำการกรมศุลกากร เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
เวลา 17.29 น. ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมข้าราชการ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงาน โครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ กรมศุลกากร พร้อมกับขอพระราชทาน กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลเบิก นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และนายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี กราบบังคมทูลเชิญ เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นายกรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ผู้บริหารกรมศุลกากร ตามลำดับ
เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก
สำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นมาเนื่องในวาระ ครบ 168 ปี หรือ 14 รอบ แห่งวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พุทธศักราช 2564
กรมศุลกากร เป็นหน่วยงานที่กำหนดขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 โดยให้รวมการภาษีขาเข้าร้อยชักสามกับการภาษีขาออกเบ็ดเสร็จเข้าด้วยกัน แล้วตั้งเป็นกรมศุลกากรให้ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีขาเข้า-ขาออก เพื่อเป็นรายได้แผ่นดินนำพาประเทศเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศจวบจนทุกวันนี้
จึงจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขึ้น ณ กรมศุลกากร เพื่อเป็นการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสักการะ และเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อกรมศุลกากรและปวงชนชาวไทย โดยประประดิษฐานบริเวณด้านหน้าอาคารที่ ทำการกรมศุลกากร ขนาด 1 เท่าครึ่งพระองค์จริง ประทับพระราชอาสน์ พระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระเพลา ทรงพระแสงกระบี่ฉลองพระองค์จอมทัพ ทรงพระภูษาโจง
ต่อมา นายพชร อนันตศิลปั อธิบดีกรมศุลกากร เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังอาคาร 1
จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของการศุลกากรในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ที่มีการกล่าวถึง “จกอบ” (อ่านว่า จะ-กอบ) หรือการจัดเก็บภาษีจากสัตว์และสิ่งของที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ สมัยกรุงศรีอยุธยา
มีการตั้ง “พระคลังสินค้า” เมื่อพุทธศักราช 2054 เป็นผู้ทำการค้าขายกับต่างประเทศและกำหนดประเภทสินค้าที่จะเข้ามาซื้อขาย ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากรเป็น “ระบบเจ้าภาษีนายอากร” โดยมีพระคลังสินค้ารับผิดชอบจัดการเรื่องภาษีอากร
จากนั้น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้ง “หอรัษฎากรพิพัฒน์” ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ทำหน้าที่รวบรวมร้ายได้ รวมถึงวางระเบียบการรับส่งและเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน อันเป็นจุดกำเนิดของกรมศุลกากรในปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงลงพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก เสด็จออกจากห้องรับรอง ไปยังห้องโถง อาคาร 1 ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นายกรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวงการคลัง และผู้บริหารกรมศุลกากร เสด็จพระราชดำเนินกลับ