กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน “เทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์”

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน “เทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์” ในการนี้ ทรงปรุงอาหารเมนู “ไข่เจียววังสระปทุม (ไข่เจียวสวรรค์)” และทอดพระเนตรเมนูอาหารจากร้านที่เข้าร่วมงาน โดยทุกเมนูล้วนปรุงจากน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์
จากนั้น นายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน “เทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยการจัดงานครั้งแรกได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ในครั้งนั้นยังคงใช้ชื่อว่า “เทศกาลน้ำมันเมล็ดชา ภัทรพัฒน์” อีกทั้งยังจัดงานอย่างต่อเนื่องภายใต้ชื่อ “เทศกาลน้ำมันเมล็ดชาสัญจร”
ต่อมาในปี 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุมัติให้เปลี่ยนชื่อจากน้ำมันเมล็ดชาเป็น “น้ำมันเมล็ดคามีเลีย” เพื่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้นและที่สำคัญคือลดความสับสนในกลุ่มผู้บริโภคที่เข้าใจว่าน้ำมันเมล็ดชาคือชาชงดื่ม จึงนำมาซึ่งการจัดงานภายใต้ชื่อ “เทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์” ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ และต่อเนื่องสู่การจัดงานครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “BORN FROM HEART MADE FOR HEALTH” มหัศจรรย์น้ำมันดีต่อใจ ในปีนี้
ประวัติของน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ นั้น เริ่มขึ้นในปี 2547 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมันสายพันธุ์คามีเลีย โอลีเฟร่า จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผลิตน้ำมันเมล็ดคามีเลียในประเทศไทย โดยมีพระราชประสงค์ให้คนไทยได้บริโภคน้ำมันที่มีคุณภาพ และเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ราษฎรบนพื้นที่สูงในเขตภาคเหนือ และสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือการฟื้นฟูเสริมสร้างพื้นที่ป่าไม้บริเวณต้นน้ำ ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูลกัน
การดำเนินงานดังกล่าวได้รับการประสานความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อปลูกต้นชาน้ำมันสายพันธุ์คามีเลีย โอลีเฟร่า ภายใต้โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยเริ่มการปลูกและขยายพันธุ์ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกต้นชาน้ำมัน ในพื้นที่บ้านปางมะหันและบ้านปูนะ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กว่า 3,464 ไร่ คิดเป็นต้นชาน้ำมัน 623,397 ต้น ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 3,305 คน จาก 30 หมู่บ้าน ซึ่งราษฎรเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการดูแลต้นชาน้ำมัน และส่งผลผลิตเข้าสู่โรงงาน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดคามีเลียและน้ำมันพืชอื่น อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อผลิตเป็นน้ำมันบริโภคที่มีประโยชน์ต่อคนไทย จึงเรียกได้ว่าการปลูกต้นชาน้ำมันนี้ ต้นทางคือการฟื้นป่า ปลายทางคือน้ำมันเมล็ดคามีเลียคุณภาพ ก่อเกิดประโยชน์แก่ราษฎรได้อย่างแท้จริง
จากนั้น นางสาวพลอยชมพู อัมพุช ผู้อำนวยการใหญ่บริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กราบบังคมทูลรายงานความร่วมมือการจัดงานระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ว่า
บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ทราบถึงแนวพระราชดำริและความเป็นมาของน้ำมันเมล็ดคามีเลีย จึงพร้อมสนับสนุน และเผยแพร่คุณประโยชน์ของน้ำมันเมล็ดคามีเลียให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชน โดยนำผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ วางจำหน่ายที่ กูร์เมต์ มาร์เก็ต ทุกสาขา อย่างต่อเนื่องมากกว่า 8 ปี”
ในการนี้ นางภากมล รัตตเสรี กรรมการและรองเหรัญญิกมูลนิธิชัยพัฒนา เบิกผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานเข้ารับพระราชทานของที่ระลึกตามลำดับ จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงาน “เทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์” โดยทรงวางสัญลักษณ์รูปหัวใจบนขวดน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ โอกาสนี้ ทรงวาดภาพบนแบบจำลองรูปหัวใจพระราชทานเป็นที่ระลึก พร้อมทั้งทรงปรุงอาหารโดยใช้น้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ เป็นส่วนประกอบ เมนู “ไข่เจียววังสระปทุม (ไข่เจียวสวรรค์)”และทอดพระเนตรเมนูอาหารจากร้านที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ โดยทุกเมนูล้วนปรุงจากน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์
ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวน้ำมันเมล็ดคามีเลีย “ต้นทางฟื้นป่า ปลายทางน้ำมันเมล็ดคามีเลีย” บอกเล่าเรื่องราวและความรู้เกี่ยวกับน้ำมันเมล็ดคามีเลีย อาทิ เรื่องเล่าของน้ำมันเมล็ดคามีเลีย การเดินทางของต้นชาน้ำมันสายพันธุ์คามีเลีย โอลีเฟร่า (Camellia oleifera) สู่การสร้างผืนป่าและรายได้สู่ราษฎร คุณประโยชน์มหัศจรรย์ของน้ำมันเมล็ดคามีเลีย สีธรรมชาติจากผืนป่า สร้างคุณค่างานหัตถกรรม
จากนั้น ทอดพระเนตรการจัดแสดง โดยกลุ่มทอผ้าไหมจากศูนย์เรียนรู้หม่อนไหมของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ บ้านโนนเสาเล้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ รวมถึงผ้าไหมย้อมสีจากเปลือกผลชาน้ำมันลวดลายใหม่ ออกแบบโดยอาจารย์คมกฤช ฤทธิ์ขจร ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากศูนย์เรียนรู้หม่อนไหมของมูลนิธิชัยพัฒนา
พร้อมกันนี้ ทอดพระเนตร Heart Installation โดยศิลปิน ครูปาน สมนึก คลังนอก ที่ออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “Born from Heart, Made for Health” สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของน้ำมันเมล็ดคามีเลียที่ดีต่อใจและสุขภาพ ทั้งยังสื่อความปรารถนาดีจากโครงการในพระราชดำริไปสู่ผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยใช้โคคูน 2 ตัว กำลังยื่นดอกคามีเลียให้กัน ส่งมอบความรักและความปรารถนาดีต่อกัน เพราะสารสกัดจากเมล็ดคามีเลียจะทำให้มีหัวใจที่ดี โดยสีชมพูหมายถึงความรัก และสีเหลืองหมายถึงตัวแทนของคามีเลีย
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่จัดงาน บริเวณควอเทียร์ อเวนิว ชั้น G ทอดพระเนตรพื้นที่จำหน่ายน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ ภายในกูร์เมต์ มาร์เก็ต และทอดพระเนตรร้านพันธมิตรที่เข้าร่วมงาน อาทิ ครัวการบินไทย ร้านตั้งใจย่าง ร้านปาท่องโก๋เสวยคาเฟ่ ร้านผัดไทยไฟทะลุ ร้านผักดอกเตอร์1993 ร้าน Napha Chefs รวมถึงร้านค้าในโซน Food Expo
สำหรับความเป็นมาของน้ำมันเมล็ดคามีเลีย เป็นที่รู้จักในประเทศจีนนานกว่า 1,000 ปี มีประโยชน์มากมายจนได้ชื่อว่าเป็น น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันที่ดีต่อร่างกายไม่ด้อยไปกว่าน้ำมันมะกอก และไม่มีกรดไขมันทรานส์ ซึ่งทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้น้ำมันเมล็ดคามีเลียยังมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน โรคอัมพาต โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ รวมทั้งยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมันให้นานขึ้น อีกทั้งน้ำมันเมล็ดคามีเลียมีจุดเดือดสูงมากกว่า 250 องศาเซลเซียส จึงทำให้สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทอด การผัด การหมักหรือใช้เป็นส่วนผสมของน้ำสลัด
น้ำมันเมล็ดคามีเลียถือเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพของคนทุกเพศทุกวัย ปัจจุบันน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” ในสินค้าน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภายใต้ตราสินค้าภัทรพัฒน์
“เทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 7 กันยายน 2566 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งภายในงานได้แบ่งพื้นที่การจัดงานออกเป็น 2 โซน ได้แก่ โซน Food Expo จัดขึ้นบริเวณ ควอเทียร์ อเวนิว ชั้น G พบกับสินค้าจากร้านค้าในเครือมูลนิธิชัยพัฒนา อาทิ สินค้าจากร้านภัทรพัฒน์ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำมันเมล็ดคามีเลีย
รวมถึงผ้าไหมย้อมสีจากเปลือกผลชาน้ำมัน สายพันธุ์ Camellia oleifera ฝีมือการทอจากกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายโครงการศูนย์เรียนรู้ด้านหม่อนไหมแบบครบวงจร ของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ สู่หลากหลายผลิตภัณฑ์ผ้าทอสีน้ำตาลประกายทองสวยงาม, ชิม ช้อป สินค้าคุณภาพจาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต ที่ใช้น้ำมันเมล็ดคามีเลียในการปรุงเมนู แบ่งเป็น สินค้าสุขภาพ วัตถุดิบ และร้านอาหารดัง อาทิ